You are currently viewing ‘BGF’ ผู้ผลิตกระจกโฟลตรายที่ 3 ของไทย!

‘BGF’ ผู้ผลิตกระจกโฟลตรายที่ 3 ของไทย!

กันยานี้ เราจะมีกระจกโฟลตแบรนด์ใหม่ที่ผลิตในประเทศไทยออกสู่ท้องตลาดเป็นรายที่ 3 แล้วนะครับ กับแบรนด์ BGF หรือ ‘บีจีโฟลต กล๊าส’

ถึงจะเป็นแบรนด์ใหม่แต่หน้าไม่ใหม่ เพราะ BGF คือธุรกิจใหม่ของบางกอกกล๊าส ผู้นำในธุรกิจการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว ที่สบช่องขยายธุรกิจจากการหลอมแก้วเป็นบรรจุภัณฑ์ มาสู่การหลอมแก้วออกมาเป็นกระจกแผ่นเรียบครับ โดยโรงงานใหม่ของกระจก BGF ตั้งอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี ในเนื้อที่ 150 ไร่ โดยจะเริ่มเดินเครื่องในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และหลังจากนั้น ประเทศไทยเราจะมีกระจกแผ่นเรียบหลั่งไหลออกมาจากเตากระจกโฟลตแห่งใหม่นี้อีกวันละ 600 ตันครับ!

วันนี้ผมได้มีโอกาสไปฟังผู้บริหารของ BGF เล่าให้ฟังถึงเทคโนโลยีของโรงงานโฟลตแห่งใหม่นี้ พอสรุปได้ใจความดังนี้ครับ

  • เตาโฟลตตัวใหม่นี้ ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากเยอรมัน ทั้งในกระบวนการผสมวัตถุดิบและเตาหลอม (Batch House & Furnace) ส่วนบ่อดีบุก (Tin Bath) สามารถเทน้ำกระจกเป็นแผ่น (Glass Ribbon) ได้กว้างถึง 4 เมตร
  • โซนทำให้กระจกเย็นตัวลง (Annealing Lehr) ใช้เทคโนโลยีจากเบลเยียม ที่มีความพร้อมสำหรับการโค้ทกระจกประหยัดพลังงานแบบออนไลน์
  • หลังกระจกเซ็ทตัวออกมาเป็นแผ่นเรียบแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังเครื่องตัดและล้างกระจก จากนั้นกระจกทุกแผ่นจะต้องผ่านเครื่องตรวจสอบความหนา สแกนหาสิ่งปนเปื้อนในกระจก โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรจากเยอรมัน
  • การแพ็คกระจกใช้ Robot ในการหยิบกระจกขึ้นแร็ค แม้กระทั่งการรองกระดาษคั่นระหว่างกระจกก็ใช้ระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคน
  • เมื่อกระจกผลิตเสร็จแล้ว จะถูกจัดเก็บในคลังสินค้าที่มีพื้นที่ถึง 47,000 ตรม. พร้อมระบบลำเลียงเคลื่อนย้ายกระจกที่ทันสมัย
  • ระบบ Logistics (การจัดส่ง) กระจายสินค้าจากศูนย์ที่ปทุมธานีและขอนแก่น พร้อมความร่วมมือกับพันธมิตรในด้านการขนส่งที่เป็นจุดแข็งของบางกอกกล๊าสอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น ระบบไฟแสงสว่างที่ใช้ระบบ Motion Control และการปรับลด-เพิ่มแสงได้เองตามสภาวะแวดล้อม สรุปแล้วรู้สึกได้ว่า ถึงจะเป็นโรงงานที่มาทีหลัง แต่ด้วยความเป็นบริษัทใหญ่ เงินทุนหนา จึงเลือกใช้ระบบที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างความแตกต่างจากผู้ผลิตรายเดิมที่สร้างเตามาก่อนหน้านานแล้วนั่นเองครับ

สำหรับการผลิตกระจกโฟลต เมื่อเริ่มเดินเครื่องแล้ว กระจกจะไหลออกมาเรื่อยๆโดยไม่มีการหยุดนะครับ ซึ่งนั่นหมายความว่า กำลังการผลิตกระจกโฟลตในประเทศของเรา จะมีมากขึ้นอีกวันละ 600 ตัน ซึ่งผมมองว่ากระจกเหล่านี้ก็คงจะยังมีตลาดรองรับอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา แต่อย่างไรก็ดี ก็คงเป็นโจทย์สำคัญกับผู้ผลิตรายเดิมทั้งสองราย คืออาซาฮี (AGC) และการ์เดียน ที่คงต้องคิดกลยุทธมารองรับการแข่งขันที่ยังไงก็หนีไม่พ้นแน่ๆครับ

ส่วนผู้บริโภคอย่างเรา น่าจะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งสามก็คงจะต้องแข่งกันพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ตอบโจทย์ในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นอย่างแน่นอนครับ!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

ที่มา - งานสัมนาแผนการตลาดและความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ BGF วันที่ 17-2-17 โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ -