You are currently viewing เปรียบเทียบการใช้กระจกชนิดต่างๆ

เปรียบเทียบการใช้กระจกชนิดต่างๆ

สวัสดีครับ! ผมหายไปนานมากกับการเขียนบทความกระจกไม่กระจอก พอดีเมื่อเช้ามีคนถามเข้ามาในกลุ่มไลน์เกี่ยวกับการเปรียบเทียบค่า ​U-Value ของกระจกอินซูเลทกับกระจกชนิดต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ในส่วนรวมถ้าจะรวบรวมข้อมูลเขียนเป็นบทความขึ้นมา ก็เลยลองทำค่าประสิทธิภาพกระจกชนิดต่างๆมาเปรียบเทียบให้ดูในบทความนี้ไปเลยละกันครับ

ก่อนจะเริ่มเปรียบเทียบ ขออธิบายตัวย่อนิดนึงนะครับ

  • VLT (Visible Light Transmission) คือค่าการส่องผ่านของแสง เช่นแสงมา 100% จะส่องผ่านกระจกชนิดนั้นๆเข้ามาได้กี่เปอร์เซนต์
  • SHGC (Solar Heat Gain Coefficient) คือค่าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์รวมทั้งหมดที่ผ่านกระจกเข้ามา เช่นถ้าความร้อนจากพระอาทิตย์ข้างนอกมีพลังงาน 100% เราจะนับรวมทั้งความร้อนที่ผ่านเข้ามาทันที กับความร้อนที่กระจกเก็บไว้แล้วคายออกมาภายหลัง เช่นถ้าค่า 0.5 จะหมายถึง 50% แปลว่าค่านี้ยิ่งน้อยยิ่งดี
  • U-Value คือค่าการถ่ายเทพลังงานความร้อน มีหน่วยเป็นวัตต์ต่อตารางเมตรเคลวิน (W/m2·°K) ซึ่งแปลเป็นภาษาพูดก็คือ ‘พลังงานความร้อนถ่ายเทผ่านกระจกกี่วัตต์บนพื้นที่กระจก 1 ตารางเมตร ที่อุณหภูมิต่างกัน 1 องศาเซลเซียส’ อันนี้เราพูดถึงความร้อนนะครับ จะคนละวิธีคิดกับค่า SHGC ที่พูดถึงความร้อนจาก Solar เป็นหลัก

เปรียบเทียบกระจกแผ่นเดี่ยว กระจกลามิเนต และกระจกอินซูเลท

เปรียบเทียบกระจกใส ลามิเนต อินซูเลท ที่ความหนาเท่าๆกัน

จากภาพเปรียบเทียบข้างบน จะเห็นได้ว่าถ้าเราเปรียบเทียบความหนากระจก 12 มม. ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเดี่ยวหรือเอากระจก 6 มม. 2 แผ่นมาซ้อนกัน ค่าการส่องผ่านของแสงและค่า SHGC ไม่ค่อยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเท่าไหร่

แต่พอมาดูค่า U-Value จะเห็นได้เลยนะครับว่า กระจกแผ่นเดี่ยวกับกระจกลามิเนตมีค่าอยู่ที่ตั้ง 5.0-5.1 ในขณะที่พอมี Air Gap คั่นกลางในกระจกอินซูเลทแล้ว ค่า U-Value ลดลงไปเหลือแค่ 2.8 ทันทีเลย แปลว่าลดไปตั้ง 45% ทั้งที่ใช้กระจกความหนาและประเภทเดียวกัน

ช่องว่าง Air Gap ในกระจกอินซูเลท มีผลกับค่าประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน?

เปรียบเทียบกระจกใส 6+6 ที่ช่องอากาศต่างกัน

หลังจากที่เรารู้แล้วว่า กระจกอินซูเลท ช่วยลดค่าการถ่ายเทพลังงานความร้อนได้มหาศาลมาก ทีนี้ผมลองเปรียบเทียบไปอีกทีว่า Air Gap หรือช่องว่างอากาศมีผลกับค่าประสิทธิภาพเพียงใด ซึ่งจากภาพก็จะเห็นได้ว่าถ้าใช้กระจกชนิดเดียวกัน ขนาด Air Gap ไม่ได้มีผลช่วยในเรื่องค่า VLT และ SHGC เท่าไหร่ แต่จะมีผลในการลดค่า U-Value ได้พอสมควรเลยทีเดียว อย่างการเพิ่ม Air Gap จาก 6 มม.เป็น 12 มม. จะช่วยลดค่า U-Value ลงได้ประมาณ 11% ครับ

แล้วถ้าใช้กระจกรีเฟล็กทีฟล่ะ?

เปรียบเทียบกระจกแผ่นหน้าเป็น Guardian HD Bronze 6 มม. (ลามิเนต-อินซูเลท คู่กับกระจกใส 6 มม.)

พอใช้กระจกรีเฟล็กทีฟ สิ่งหนึ่งที่จะเห็นได้ชัดเลยก็คือว่าค่าการส่องผ่านของแสงหายไปเยอะเลย เพราะคอนเซปท์ของกระจกรีเฟล็กทีฟจะเน้นการใช้กระจกที่มีค่าการสะท้อนค่อนข้างมากเพื่อช่วยลดความร้อนจากแสงอาทิตย์ ทำให้กระจกค่อนข้างมืด แต่ก็ช่วยให้ค่า SHGC ลดลงได้มากเช่นกัน ซึ่งแม้ว่าค่า SHGC จะลดไปเยอะมากเมื่อเทียบกับการใช้กระจกใส เราก็จะเห็นได้ว่าการใช้กระจกแผ่นเดี่ยวหรือนำมาทำลามิเนตไม่ได้ช่วยในเรื่องการลดค่า U-Value ลงได้เท่าไหร่เลย แต่พอนำมาใช้กับกระจกอินซูเลท ค่า U-Value ลดจากกระจกแผ่นเดี่ยวในชนิดเดียวกันได้ถึง 40% เลยทีเดียว!

แล้วถ้าใช้กระจกแพงๆอย่าง Soft-Coated Low-E ควรใช้กระจกชนิดไหนดี?

เปรียบเทียบกระจก Guardian SN70 6 มม. ประกบกับกระจกใส 6 มม.

พอเป็นกระจก High Performance อย่างตระกูลดับเบิ้ลซิลเวอร์โลว์อี อันนี้เราไม่สามารถนำมาใช้งานแบบแผ่นเดี่ยวได้นะครับ เพราะสารเคลือบจะทำปฏิกริยากับอากาศ ผมก็เลยจะแสดงค่าเปรียบเทียบเฉพาะกระจกลามิเนตกับอินซูเลทให้ดู ซึ่งสำหรับกระจกลามิเนต ก็มีข้อจำกัดอีกมากเช่นกัน เพราะสารเคลือบในกระจกค่าประสิทธิภาพสูงๆส่วนใหญ่จะไม่เข้ากันกับฟิล์มลามิเนต (แนะนำให้สอบถามผู้ผลิตว่ากระจกรุ่นไหนลามิเนตหันด้าน coating เข้ากับฟิล์มได้บ้าง)

ในกรณีนี้ จะเห็นได้ว่าค่า VLT และ SHGC ของกระจกลามิเนตกับอินซูเลทก็ไม่ค่อยมีผลแตกต่างกันมากเท่าไหร่ แต่ค่า U-Value จะลดจาก 5 สำหรับลามิเนต เหลือแค่ 1.83 สำหรับกระจกอินซูเลท ซึ่งลดเยอะมากถึง 63% เลยนะครับ! นั่นแปลว่าถ้าเราจะใช้กระจก Low-E ให้คุ้มที่สุดก็ควรจะเลือกใช้กระจกอินซูเลทเป็นหลัก แต่ถ้าจะใช้เป็นลามิเนตก็ไม่ได้ผิดมากอะไร ถ้าจะเน้นที่การกันความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นหลัก เพราะกระจกลามิเนต ไม่ได้ช่วยในเรื่องการถ่ายเทพลังงานความร้อนเลย

ถ้าต้องการกระจกที่มีค่า U-Value ดีขึ้นไปอีก นอกจากใช้กระจกอินซูเลทแล้ว ถ้าเราเปลี่ยนช่องว่างจากอากาศ เติมก๊าซเฉื่อยอย่างอาร์กอนเข้าไปสัก 90% ก็จะลดค่า U-Value ลงได้อีกพอสมควรเลยนะครับ อย่างในตัวอย่างข้างบนจะลดจาก 1.83 เหลือ 1.16 W/m2·°K

สำหรับท่านที่อยากศึกษาเรื่องค่าประสิทธิภาพของกระจกเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากลิงค์ข้างล่างนี้เลยครับ