You are currently viewing อยากได้สระว่ายน้ำใสๆ… เลือกใช้กระจกหรืออะคริลิคดี?

อยากได้สระว่ายน้ำใสๆ… เลือกใช้กระจกหรืออะคริลิคดี?

เดือนที่แล้ว มีผู้ออกแบบสอบถามผมเกี่ยวกับการใช้กระจกมาทำเป็นพื้นสระว่ายน้ำแบบในรูปนี่แหละครับ โดยต้องการพื้นสระเป็นกระจกกว้าง 1.4 เมตร ยาว 4 เมตร และรองรับความลึก 1.5 เมตร… ในรูปนี้ยังมีเฟรมซัพพอร์ทเป็นระยะ แต่งานที่ผมพูดถึงนี่… เค้าไม่ต้องการเฟรมซัพพอร์ทและต้องการเป็นกระจกแผ่นเดียวเลยครับ!

งานนี้ผมเลยต้องพึ่งทีมวิศวกรของ Kuraray ในการคำนวณการรับแรง และได้สเปคกระจกที่คำนวณออกมาได้เป็นแบบนี้ครับ

glassfloor_combi

จริงๆแล้วในการคำนวณการรับแรง เค้าจะคำนวณการรับแรงของกระจกแค่สองชั้น เพื่อที่จะเผื่อว่า ถ้าหากกระจกแผ่นบนเกิดแตกขึ้นมา กระจกอีกสองแผ่นจะต้องสามารถรองรับน้ำหนักน้ำและน้ำหนักกระจกที่แตกได้เผื่อไว้เลย ซึ่งกระจกเทมเปอร์ลามิเนต 15 มม. 2 ชั้น ที่ใช้ฟิล์ม SentryGlas ความหนา 2.28 มม. จะรับน้ำหนักได้ที่ 1.6 ตันต่อตารางเมตร ซึ่งรองรับน้ำหนักของน้ำได้ที่ความสูง 1.5 เมตรพอดี! แต่ในความเป็นจริง เค้าให้ใช้กระจกลามิเนตถึง 3 ชั้น ทำให้รับน้ำหนักได้อย่างเหลือๆแน่นอนครับ!!!

house_poolfloor1

ทีนี้ ถ้าคิดต่อว่า ในเมื่อกระจกแค่สองชั้นก็รองรับน้ำหนักได้ ทำไมเราต้องสเปคกระจกเพิ่มไปถึง 3 ชั้นให้แพงขึ้นล่ะครับ? คำตอบก็คือ ‘ก็เพราะว่ากระจกมันอาจจะแตกได้!’ ซึ่งอย่างเคสนี้ ถ้ากระจกแตก เราต้องเผื่อให้กระจกแผ่นล่างที่ไม่แตก รองรับน้ำหนักทั้งหมดไว้ให้ได้ด้วย ไม่งั้น… เกิดหายนะน้ำถล่มบ้านแน่ครับ!

poolside1

กระจกเทมเปอร์ลามิเนต 3 ชั้นแบบนี้ ต้องใช้เทคนิคการผลิตในขั้นตอนการลามิเนตที่ซับซ้อนกว่าการผลิตกระจกลามิเนตทั่วไป โดยจะต้องเพิ่ม Process ในการดูดอากาศจากขอบกระจกด้วยระบบ Vacuum และควบคุมคุณภาพการอบเทมเปอร์ให้กระจกมีคลื่นที่เกิดจากอบเทมเปอร์ (Roller Wave) ให้น้อยที่สุด ซึ่งทำให้ผลิตได้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะกระจกแผ่นใหญ่ๆ และกระจกโค้ง ทำให้กระจกชนิดนี้ราคาแพงกว่าลามิเนตสองชั้นมากๆเลยทีเดียวครับ

vacuum1

สำหรับการใช้งานกระจกแบบนี้ อีกทางเลือกที่นิยมกันมาก คือ การใช้ ‘อะคริลิค’ (Acrylic) แทนการใช้กระจก เหตุผลหลักๆก็เพราะว่า แผ่นอะคริลิคจะไม่แตกเหมือนกระจก และสามารถผลิตขนาดใหญ่แค่ไหนก็ได้ เพราะเค้าสามารถเชื่อมต่อแผ่นเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อได้ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘Chemical Bonding’

acrylicbonding

อย่างในรูปข้างบน ขอบด้านข้างแบบไร้รอยต่อแบบนี้ ถ้าจะเลือกเป็นกระจก จริงๆ ก็มีบริษัทในต่างประเทศที่ทำกระจกเทมเปอร์ลามิเนตหลายๆชั้นได้ยาวถึง 9 เมตร แต่ก็ทำได้ยากและแพงมากกก… ถึงมากที่สุด ทำให้งานในลักษณะนี้ การเลือกใช้วัสดุเป็น ‘อะคริลิค’ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและคุ้มค่ากว่าครับ

s31pool1

อย่างขอบสระทรงโค้งของโรงแรม S31 ก็เลือกใช้เป็นอะคริลิคดัดโค้ง เพราะการดัดโค้งอะคริลิคแผ่นเดียว ยังไงๆ ก็ง่าย ปลอดภัย และประหยัดกว่าการเลือกใช้กระจกลามิเนตแผ่นใหญ่ๆดัดโค้งครับ!

curve1

sheetacry1

แต่ถ้าพูดถึงในแง่ความสวยงาม การใช้กระจกจะให้ลุคที่เหนือกว่าอะคริลิคอย่างแน่นอน เพราะกระจกเป็นวัสดุที่มีความมันวาว ให้ภาพที่มองทะลุได้คมชัดไม่ผิดเพี้ยน ในขณะที่อะคริลิคส่วนใหญ่ เมื่อใช้นานๆไป ก็มีโอกาสที่จะขุ่นหรือเหลืองขึ้นได้จากถูกแสงยูวีเป็นเวลานานๆ (ยกเว้นใช้อะคริลิคชนิดพิเศษอย่าง Plexiglass ที่มีราคาแพงมากๆ) และอีกอย่างที่สำคัญคือ ผมรู้สึกว่าเวลาผมมองผ่านอะคริลิคแผ่นหนาๆ เป็นเวลานานๆ ผมจะมีความรู้สึกมึนๆเหมือนมันหลอกตา ทั้งๆที่เวลามองผ่านกระจกจะไม่รู้สึกแบบนี้ครับ

joint1

อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากในการออกแบบกระจกแนวนี้ คือเรื่องของการยึดกระจกหรืออะคริลิคกับขอบสระครับ การดีไซน์ตรงนี้ มีผลกับการรับแรงดันน้ำมากๆ อย่างตัวอย่างการยึดกระจกขอบสระในรูปด้านซ้าย การออกแบบให้มีซัพพอร์ทด้านบนจะช่วยลดความหนาของวัสดุได้เป็นอย่างมาก หรือรูปทางขวา เมื่อกระจกหรืออะคริลิคฝังลงไปในเฟรมด้านล่างได้มากขึ้น ก็ช่วยให้การแอ่นของวัสดุมีน้อยลง ทำให้ใช้ความหนาน้อยลง และลดต้นทุนในตัววัสดุเองได้เช่นกัน

calc1

สรุปแล้ว ในการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้กระจกหรืออะคริลิคสำหรับงานสระแบบนี้ ส่วนตัวแล้ว ผมจะยอมให้มีรอยต่อได้มากขึ้น เพื่อแลกกับการเลือกใช้เป็นวัสดุกระจก เพราะเราก็จะได้ลุคมันวาวที่สวยงาม ใสแจ๋ว และมั่นใจได้ว่าจะไม่ขุ่นขึ้นตลอดอายุการใช้งาน

joint2

แต่ถ้าต้องการความใสแบบคลีนๆเป็นแนวยาว ไร้รอยต่อมาบดบังสายตา หรือเป็นงานดัดโค้งที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ก็ควรจะเลือกใช้เป็นอะคริลิค ซึ่งก็จะได้ความมั่นใจว่าลงทุนครั้งเดียว ไม่ต้องเสี่ยงต่อการแตกเหมือนกระจกตลอดอายุการใช้งานไปเลยครับ!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -
เครดิตภาพ - Reynolds Polymer / Wiel Arest Architects -