You are currently viewing กระจกเทมเปอร์ฮีทโซค… กับปัญหากระจกแตกเอง

กระจกเทมเปอร์ฮีทโซค… กับปัญหากระจกแตกเอง

หลายๆท่านอาจจะคิดว่า กระจกฮีทโซคก็คือกระจกที่พิเศษกว่ากระจกเทมเปอร์ขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น แต่จริงๆแล้ว ท่านทราบไหมว่า… กระจกฮีทโซค ก็คือกระจกเทมเปอร์ธรรมดาๆนี่แหละครับ! เพียงแต่หลังจากผลิตกระจกเทมเปอร์เสร็จแล้ว กระจกเทมเปอร์จะถูกนำไปผ่านการทดสอบบางอย่าง ซึ่งการทดสอบนั้นมีชื่อว่า ‘ฮีทโซค’ (Heat Soak) เท่านั้นเอง…

แล้วตกลงฮีทโซคคืออะไร?

Heat Soak คือกระบวนการทดสอบกระจกอย่างหนึ่ง ที่ถูกออกแบบมาสำหรับไว้เทสกระจกเทมเปอร์เท่านั้น โดยการนำกระจกเทมเปอร์ที่ผลิตเสร็จแล้ว นำไปใส่ไว้ในเตาความร้อน แล้วเพิ่มอุณหภูมิในเตาจนกระทั่งกระจกมีอุณหภูมิถึง 290 องศาเซลเซียส จากนั้นปล่อยกระจกให้แช่ความร้อนไว้จนครบ 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยๆปล่อยให้กระจกเย็นตัวลงจนเท่ากับอุณหภูมิห้อง แล้วจึงส่งมอบกระจกที่ผ่านการทดสอบเพื่อนำไปติดตั้งต่อไป

hs_oven1

ทำฮีทโซคแล้วได้อะไร?

ก่อนอื่น ผมคงต้องอธิบายก่อนครับ ว่าในกระจกแผ่นที่ผลิตมาจากโรงกระจกโฟลตอย่าง AGC หรือการ์เดียนนั้น มีโอกาสที่จะมีสารที่มีชื่อว่า ‘นิกเกิลซัลไฟด์’ (Nickle Sulfide /NiS) ปะปนอยู่ในเนื้อกระจกจากกระบวนการหลอมส่วนผสมต่างๆ ซึ่งปกติแล้วทางโรงงานก็จะพยายามตรวจเช็คอย่างเต็มที่แหละครับที่จะไม่ให้มีส่วนผสมของนิกเกิลซัลไฟด์เล็ดรอดมาอยู่ในกระจก แต่ในความเป็นจริงก็เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เพราะนิกเกิลซัลไฟด์จะมีขนาดไม่เกิน 0.4 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง และนิกเกิลซัลไฟด์จะมีการขยายตัวเมื่อถูกความร้อนในกระบวนการผลิตเทมเปอร์ ซึ่งบางครั้งการขยายตัวของนิกเกิลซัลไฟด์ก็ทำให้กระจกแตกในกระบวนการผลิตไปเลย หรือบางครั้งก็ยังไม่ถึงจุดที่กระจกจะแตก (เพราะในการผลิตกระจกเทมเปอร์ เราใช้เวลาอบสั้นๆแล้วเป่าลมเย็นอย่างรวดเร็ว)

nis3

ซึ่งเมื่อกระจกมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ในกระจกเทมเปอร์ เมื่อเรานำกระจกไปติดตั้งใช้งานจริง และกระจกได้รับความร้อนสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสที่นิกเกิลซัลไฟด์จะเกิดการขยายตัวต่อ และดันจากภายในเนื้อกระจกให้กระจกเทมเปอร์ระเบิดแตกได้เองได้ครับ!

nis2

ดังนั้น กระบวนการทำฮีทโซค ก็คือการตัดไฟเสียแต่ต้นลม โดยการนำกระจกเทมเปอร์ไปจำลองสภาวะการใช้งานโดยให้กระจกได้รับความร้อนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นิกเกิลซัลไฟด์ที่ (ถ้ามี) ปะปนอยู่ในเนื้อกระจก เกิดการขยายตัว และดันกระจกให้แตกซะตั้งแต่การทดสอบในโรงงานเลย โดยถ้ากระจกเกิดการแตกระหว่างการทดสอบจริงๆ ทางโรงงานก็จะรับผิดชอบผลิตกระจกใหม่และนำมาทดสอบอีก และส่งมอบเฉพาะกระจกที่รอดมาจากกระบวนการเทสฮีทโซคนี้เท่านั้นครับ!

แล้วกระจกธรรมดา หรือฮีทสเตร็งเท่น ควรต้องทำฮีทโซคมั้ย?

ไม่ต้องครับ! ทำไปก็ไม่มีประโยชน์… เพราะกระจกที่จะเกิดการระเบิดแตกเองได้นั้น จะมีเฉพาะกระจกเทมเปอร์เท่านั้น เนื่องจากกระจกเทมเปอร์จะมีค่าความเครียดที่ผิวสูงมาก ทำให้กระจกมีโอกาสที่จะแตกเองได้จากการขยายตัวของนิกเกิลซัลไฟด์ แต่ถ้าเป็นกระจกธรรมดาหรือกระจกฮีทสเตร็งเท่น จะไม่มีค่าความเครียดที่ผิวกระจกมากพอที่จะทำให้การขยายตัวของนิกเกิลซัลไฟด์ดันกระจกให้แตกเองได้ครับ ดังนั้น การทำฮีทโซค จึงเป็นเพียงการทดสอบเพิ่มเติมสำหรับกระจกเทมเปอร์เท่านั้น

nis1

กระจกเทมเปอร์ ถ้าไม่ทำฮีทโซค มีโอกาสเกิดปัญหากระจกแตกเองจากนิกเกิลซัลไฟด์แค่ไหน?

จากประสบการณ์ส่วนตัว ตั้งแต่ทำงานเกี่ยวกับเทมเปอร์มา ผมว่าปัญหานี้มีไม่เยอะเลยครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าการทำฮีทโซคจะไม่มีประโยชน์นะครับ เคยมีอาคารเก่าที่เจ้าของสั่งเปลี่ยนกระจกเทมเปอร์เดิมทั้งหมดเป็นเทมเปอร์ฮีทโซค เพราะเกิดปัญหากระจกทยอยแตกเองจนน่ารำคาญมาแล้วเช่นกัน

ซึ่งเท่าที่ผมหาข้อมูลมา เค้าบอกว่า โอกาสที่จะมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ในกระจกโฟลตจะอยู่ที่ 5 ต่อ 100 (5%) และเมื่อนำกระจกไปทำฮีทโซคแล้ว มีโอกาสที่จะยังมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ลดลงไปอีก 10 เท่า คือ 5 ต่อ 1000 (0.5%)

hs_break

กรณีไหนที่ควรทำฮีทโซค?

ถ้าถามผมแบบเป็นการส่วนตัว ไม่อ้างอิงวิชาการ ผมว่าการทำฮีทโซคไม่ค่อยจำเป็นและไม่คุ้มค่ากับราคากระจกที่แพงขึ้นอีกประมาณ 20% ซักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นงานบางประเภทที่ Sensitive หรือเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากๆ เช่นกระจกสนามบิน สถานีรถไฟ หรืองานอาคารสูงที่ใช้กระจกเทมเปอร์ล้วนๆ แบบนี้ผมก็ยังคงเห็นด้วยกับการทำฮีทโซคเพื่อความปลอดภัยอีกขั้นครับ แต่สำหรับการใช้งานกระจกเทมเปอร์ภายในอาคาร เช่นราวบันได บานห้องน้ำ หรือกระจกที่ไม่มีโอกาสได้รับความร้อนสะสม พวกนี้ผมว่าไม่ค่อยจำเป็นครับ

ทำฮีทโซคแล้ว กระจกจะไม่แตกเองอีกเลยใช่มั้ย?

ไม่ใช่ครับ! เพราะสาเหตุที่ทำให้กระจกแตกเอง ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของนิกเกิลซัลไฟด์เท่านั้น และในความเป็นจริง นิกเกิลซัลไฟด์ก็เป็นสาเหตุของการแตกเองของกระจกที่น้อยมากๆอยู่แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งหลายๆคนพอรู้จักนิกเกิลซัลไฟด์ เวลาเจอกระจกเทมเปอร์แตกเอง ก็มักจะบอกว่ากระจกแตกเพราะนิกเกิลซัลไฟด์ไว้ก่อน…

install1

ทั้งที่จริงๆแล้ว หลายๆครั้งที่กระจกแตกเองจะเป็นเรื่องความไม่สมบูรณ์ของขอบกระจก (บิ่น มีรอยที่ขอบ ฯลฯ) และการติดตั้งที่บางครั้งอาจจะมีการขบของกระจกกับเฟรม ซึ่งสำหรับกระจกเทมเปอร์ บางครั้งมันไม่ได้แตกทันทีครับ มันจะมีลิมิตของตัวมันเอง จนกว่าจะถึงจุดนึงที่กระจกอยู่ดีๆก็แตกเองขึ้นมาก็เป็นได้ครับ

สำหรับท่านที่สนใจ ยังมีอีกบทความที่เกี่ยวข้องเรื่องการวิเคราะห์ปัญหาการแตกเองของกระจกเทมเปอร์ ตามลิงค์นี้เลยครับ

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

ภาพ - PPG / WW Glass LLC / ToughGlaze UK -