You are currently viewing ทำไมอยู่ดีๆ กระจกถึงแตกเองได้?

ทำไมอยู่ดีๆ กระจกถึงแตกเองได้?

เช้าตรู่วันหนึ่ง ในขณะที่ครูสมศรีกำลังหลับอยู่อย่างสบาย ก็ได้ยินเสียง ‘ปัง!!!’ ที่ดังมากๆ ดังมาจากในห้องน้ำ ดังจนทำให้ครูสมศรีตกใจตื่น พองัวเงียตั้งสติได้ ครูสมศรีก็วิ่งไปห้องน้ำ แล้วก็พบว่ามีเศษกระจกขนาดเล็กๆกองอยู่บนพื้นห้องน้ำเต็มไปหมด…

ครูสมศรีสำรวจยังไงก็นึกไม่ออกว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมกระจกถึงแตก?  เพราะครูสมศรีอาศัยอยู่ในบ้านคนเดียว และก็ไม่มีสัตว์เลี้ยงหรืออะไรที่จะมาชนกระจกให้แตกได้ หรืออาจเป็นพลังงานบางอย่าง! แม้แต่พี่ป๋อง คนอวดผี ก็ยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้…

tp_explode1

555 เขียนไปเขียนมาชักเพลิน… ใช่แล้วครับ บทความนี้ผมจะมาพูดถึงสาเหตุที่ทำให้กระจกแตกเอง เหตุการณ์กระจกแตกเองแบบที่บ้านคุณสมศรี เกิดขึ้นได้จริง และก็มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่น้อยเสียด้วย แต่ก่อนอื่น ผมต้องบอกก่อนว่ากระจกที่แตกเองแบบไร้สาเหตุแบบนี้ ร้อยทั้งร้อยจะเกิดกับ ‘กระจกเทมเปอร์’ (Tempered Glass) เป็นหลัก ส่วนกระจกที่ไม่ได้ผ่านการอบเทมเปอร์ (Annealed Glass) และกระจกฮีทสเตร็งเท่น (Heat-Strengthened Glass) มีโอกาสที่จะแตกเองแบบไร้สาเหตุแบบนี้น้อยมาก ว่าแล้วผมขอเข้าเรื่องเลยนะครับ

install1

สาเหตุหลักๆสาเหตุแรก ที่กระจกจะแตกเองได้ เกิดจากการเคลื่อนย้ายและติดตั้งกระจก เช่นระหว่างที่กระจกเทมเปอร์ถูกขนย้ายขึ้นมาเพื่อติดตั้ง ผิวกระจกไปกระแทกกับอะไรบางอย่างจนผิวกระจกเกิดรอย crack เล็กๆ แต่กระจกยังไม่ถึงกับแตก หรือกรณีที่ขอบกระจกบิ่นหรือมีรอยกระเทาะที่ขอบด้วยนะครับ เพราะความไม่สมบูรณ์ของผิวหรือขอบกระจกแบบนี้ อาจทำให้กระจกยังไม่ถึงจุดที่จะแตกก็จริงแต่ก็พร้อมที่จะแตกได้ตลอดเวลา

crackedge1

ยกตัวอย่างอีกกรณีที่เกิดได้บ่อยๆ คือการติดตั้งกระจกเทมเปอร์เบียดเฟรมหรือมีเศษอะไรบางอย่างเบียดอยู่กับขอบกระจกโดยที่เราไม่เห็น นี่แหละครับตัวดีเลย เพราะกระจกเทมเปอร์ แม้จะมีความแข็งแรงมากกว่ากระจกธรรมดาถึง 4-5 เท่าก็จริง แต่ที่แข็งแรงนั้น จะเป็นเฉพาะที่บริเวณผิวกระจก ถ้าเป็นที่ขอบกระจกนี่จะเป็นจุดอ่อนของกระจกเทมเปอร์ที่แม้จะมีแรงมากระทำเพียงเล็กน้อยก็ทำให้กระจกแตกได้ทั้งแผ่น ดังนั้น หากกระจกมีขอบที่บิ่นกระเทาะหรือมีวัสดุบางอย่างมาเบียดที่สันกระจกในการติดตั้ง ก็จะเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้กระจกเทมเปอร์แตกเองได้นั่นเอง

ดังนั้น ก่อนการติดตั้งกระจกเทมเปอร์ ควรตรวจสอบบริเวณสันและขอบกระจกโดยรอบ รวมทั้งบริเวณช่องบากหรือรูเจาะต่างๆให้ดีก่อนนะครับ อย่าติดตั้งกระจกทั้งๆที่มีรอยกระเทาะ รอยชน หรือการลั่นออกของเนื้อกระจก เพราะถึงกระจกยังไม่แตกวันนี้ แต่กระจกก็เสี่ยงมากที่จะแตกเองได้แบบไม่ทันรู้ตัวครับ!

selfshatter1

สาเหตุที่สอง เป็นเรื่องของการสั่นสะเทือนหรือเคลื่อนตัวของอาคาร อย่างที่ผมอธิบายไปก่อนหน้าว่า สันหรือขอบกระจกเทมเปอร์เป็นส่วนที่บอบบางและรับแรงที่มากระทบได้น้อย แม้แค่ว่าห้องข้างๆเรา เค้าปรับปรุงเล็กๆน้อยๆ ที่ทำให้พื้นหรือผนังเกิดการสั่นสะเทือน ก็เป็นสาเหตุให้กระจกเทมเปอร์ลั่นแตกเองได้เหมือนกัน

buildingmove1

สาเหตุสุดท้าย เป็นเรื่องของการปะปนของนิกเกิลซัลไฟด์ (Nickel Sulfide) ที่มีโอกาสปะปนอยู่ในเนื้อกระจกมาตั้งแต่กระบวนการหลอมกระจกโฟลตเป็นแผ่นแล้วครับ ซึ่งเจ้านิกเกิลซัลไฟด์ที่ว่านี้จะมาในรูปแบบของเม็ดจุดปะปนในเนื้อกระจก ซึ่งมีขนาดเล็กมาก และอาจแฝงตัวมากับกระจกที่เทมเปอร์เสร็จมาจากโรงงานอีกที

nickelsulfide1

เจ้านิกเกิลซัลไฟด์ที่ว่านี้ มันจะขยายตัวเมื่อโดนความร้อน ซึ่งเมื่อมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ในเนื้อกระจก และมีการสะสมตัวของอุณหภูมิภายในกระจกมากขึ้น มันก็จะขยายตัวและดันกระจกให้แตกจากภายในกระจกได้เอง อันนี้กล่าวถึงเฉพาะกรณีกระจกเทมเปอร์นะครับ เพราะกระจกเทมเปอร์จะมีค่าความเครียดที่ผิว (compression stress) ที่สูงมาก แต่ถ้าเป็นกระจกธรรมดาหรือกระจกฮีทสเตร็งเท่น การขยายตัวของนิกเกิลซัลไฟด์นี้จะไม่สามารถทำให้กระจกแตกได้เลยครับ!

break_butterfly

ถ้ามีโอกาสได้เห็นลักษณะการแตกของกระจก เราจะสามารถเห็นได้ว่าแพทเทิร์นการแตกที่เกิดจากขยายตัวของนิกเกิลซัลไฟด์ จะมีลักษณะเป็นรูปเลข 8 หรือเหมือนผีเสื้อตามรูปข้างต้น แต่ถ้ากระจกแตกและเก็บเศษทิ้งไปหมดแล้ว โอกาสที่จะทราบสาเหตุที่แท้จริงที่กระจกแตกจะทำได้ยากมากครับ

สำหรับบางงานที่ซีเรียสในเรื่องนี้ อาจจะสั่งให้ผู้ผลิตนำกระจกเทมเปอร์ไปผ่านกระบวนการฮีทโซค (Heat Soak) ซึ่งก็คือ การนำกระจกไปผ่านความร้อนในเตาที่อุณหภูมิ 290 องศาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครับ ถ้าในกระจกมีนิกเกิลซัลไฟด์ปะปนอยู่ มันก็จะขยายตัว และดันให้กระจกแตกจากภายในในระหว่างการทำการทดสอบนี้นั่นเอง โดยการทำฮีทโซค จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20% ของค่ากระจกเทมเปอร์ และต้องใช้เวลาในการผลิตกระจกนานขึ้นอีกหลายวันเลยครับ

nickelsulfide_bubble1

ลักษณะของนิกเกิลซัลไฟด์ที่ปะปนอยู่ในเนื้อกระจก

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมว่าโอกาสที่กระจกจะแตกเองจากนิกเกิลซัลไฟด์ มีโอกาสเกิดได้ไม่เยอะเลยครับ ผมจึงคิดว่าการทำฮีทโซคอาจไม่ค่อยจำเป็นและไม่คุ้มเท่าไหร่ ยกเว้นงานกระจกผนังอาคารสูง (ซึ่งทุกวันนี้จะหันไปใช้กระจกลามิเนตมากขึ้นทุกที)

เทรนด์การใช้กระจกในทุกวันนี้ ถ้าไม่ใช่กรณีที่จำเป็นต้องใช้กระจกเทมเปอร์ จะมีกระจกอีกชนิดที่น่าใช้เหมือนกัน อาจจะแข็งแรงไม่เท่ากระจกเทมเปอร์ แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงของการที่กระจกจะแตกเองไปได้เลย กระจกที่ว่านี้ก็คือ… ‘กระจกฮีทสเตร็งเท่น’ ซึ่งไว้ในโอกาสหน้า ผมจะมาเล่าถึงกระจกชนิดนี้ให้ฟังอย่างละเอียดอีกทีครับ…

credit ภาพ: viracon / ppg

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -