เมื่อวานนี้มีคุณแม่ท่านนึงได้แชร์เหตุการณ์อุบัติเหตุจากการที่กระจกเทมเปอร์แตกเองโดยไม่มีแรงใดๆมากระทำในขณะที่กระจกแตก ทำให้เศษกระจกที่แตกเป็นเม็ด ตกลงมาบริเวณโซฟาด้านล่างที่มีลูกน้อยอายุแค่ขวบกว่าอยู่ ทำให้ได้รับบาดเจ็บ ตามโพสนี้ https://www.facebook.com/share/v/1CXMrgqXFJ/
เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และทำให้ผมคิดได้ว่า ผมต้องรีบเขียนบทความให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้กระจกสำหรับระเบียงโดยด่วน เพราะจริงๆจะว่าไป การเลือกใช้กระจกสำหรับราวกันตก ระเบียง หรือราวบันได เป็นอะไรที่ไม่ได้เลือกได้ง่ายๆนะครับ เพราะมันมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสียของกระจกชนิดต่างๆที่เราควรรู้และเลือกให้ถูกต้อง

ในปัจจุบันจะเห็นว่าคนนิยมเลือกใช้กระจกราวกันตกแบบไม่มีเฟรม (Frameless) กันเป็นส่วนใหญ่ เพราะให้ลุคที่โมเดิร์น คลีน สวยงามและทำความสะอาดง่าย ซึ่งพอเลือกใช้กระจกแบบไม่มีเฟรมแล้ว คุณสมบัติกระจกพื้นฐานที่จำเป็นเลยก็คือต้องแข็งแรงพอที่จะขันอุปกรณ์สเตนเลสยึดกระจกให้แน่น โดยที่กระจกต้องไม่แตกจากการขันสกรูยึดอุปกรณ์ให้แน่น ซึ่งด้วยข้อจำกัดนี้ ทำให้กระจกแบบไม่มีเฟรมทุกแผ่นจะต้องผ่านกระบวนการเทมเปอร์หรือฮีทสเตร็งเท่นมาก่อน จึงจะนำมายึดให้แน่นหนาได้ครับ

ซึ่งตามที่ผมกล่าวมา เจ้ากระจกเทมเปอร์ หรือที่มักจะถูกเรียกให้สวยหรูขึ้นว่า “กระจกนิรภัยเทมเปอร์” จริงๆแล้วก็เป็นกระจกที่ธรรมดาและพื้นฐานมากๆเลยนะครับ จะว่าไปกระจกชนิดนี้ก็มีความนิรภัยในระดับนึง เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่กระจกเทมเปอร์ (ที่ผลิตได้ตามมาตรฐาน มอก.) แตก กระจกจะต้องแตกเป็นชิ้นเล็กๆ หรือที่เรามักจะเรียกกันว่าเม็ดข้าวโพด ซึ่งมาตรฐานมอก.เค้ากำหนดขนาดของเม็ดที่แตกไว้ว่าจะต้องเล็กพอสมควร ซึ่งถ้ากระจกแตกในระดับการใช้งานที่ไม่ได้ตกจากที่สูง ก็จะช่วยลดการบาดเจ็บของผู้ที่ถูกเศษกระจกได้ในระดับนึง ดีกว่ากระจกที่ไม่ได้เทมเปอร์ เวลาแตก ก็จะแตกเป็นชิ้นใหญ่ที่มีความคม ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่ามากๆเลย

เมื่อเรารู้จักกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์แล้ว มาเปรียบเทียบกันครับว่า ถ้าจะเลือกใช้กระจกราวกันตก เรามีทางเลือกอะไรบ้าง และแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
กระจกเทมเปอร์แผ่นเดี่ยว (Monolithic Tempered Glass)
ต้องเน้นก่อนว่าทางเลือกที่ 1 นี้ คือการเลือกใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์แผ่นเดี่ยวเท่านั้นนะครับ! กระจกชนิดนี้ถูกนำมาใช้ติดตั้งกับงานราวระเบียงมากที่สุด เพราะเป็นทางเลือกพื้นฐานที่ราคาต่ำที่สุด หาผู้ผลิตได้ง่าย และใช้เวลาในการรอสินค้าไม่นาน
คุณสมบัติ
ผลิตโดยนำกระจกโฟลต (Annealed Glass) ไปผ่านกระบวนการความร้อนที่อุณหภูมิ 650-700°C แล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว ผลที่ได้คือ ทำให้กระจกมีความแข็งที่บริเวณผิวมากกว่ากระจกที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ 4-5 เท่า ซึ่งคุณสมบัตินี้เองทำให้เราสามารถนำกระจกชนิดนี้มายึดกับอุปกรณ์สเตนเลสเพื่อทำการติดตั้งกระจกในลักษณะที่ไม่ต้องมีเฟรมได้
เมื่อกระจกเทมเปอร์แตกจะแตกเป็นเม็ดขนาดเล็กประมาณ 0.6-1 ซม. ทำให้ลดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัยอย่างที่แจ้งไป แต่อย่าลืมว่า กระจกชนิดนี้ เวลาแตกไม่ว่าจะเกิดจากแรงกระทำหรือแตกด้วยตัวเอง กระจกจะกลายเป็นเศษชิ้นเล็กๆทั้งแผ่น ทำให้เศษกระจกหล่นลงมาที่พื้นทั้งหมด
ข้อดีของกระจกเทมเปอร์แผ่นเดี่ยว
- ในแง่ของคุณสมบัติ: มีผิวกระจกที่แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้ดี แม้จะชนแรงๆก็ยังไม่แตกได้ง่ายๆ
- สั่งผลิต-หาซื้อได้ทั่วไป ใช้เวลาผลิตเฉลี่ย 4-7 วัน ราคาไม่สูง
ข้อเสียของกระจกเทมเปอร์แผ่นเดี่ยว
- แตกแล้วเศษกระจกจะทลายลงมาทั้งแผ่น ทำให้ตกสู่พื้นและทำอันตรายกับผู้คนที่อยู่ด้านล่างได้
- สามารถแตกด้วยตัวเองได้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายในกระจกทำให้นิกเกิ้ลซัลไฟด์ขยายตัว (แม้ว่าส่วนนี้จะมีเปอร์เซนต์เกิดน้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ครับ) หากเพิ่มเงินอีก 20-30% สามารถอัพเกรดสเปคเป็นเทมเปอร์ฮีทโซค เพื่อนำกระจกไปทดสอบและลดความเสี่ยงในการแตกด้วยตัวเองจากสาเหตุนี้ลงไปอีกได้

- ไม่ทนต่อแรงกระทำในพื้นที่เล็กๆ (Point Load) เหมือนเวลาเรานั่งรถทัวร์ จะมีค้อนที่มีปลายแหลมๆ ซึ่งเมื่อใช้ปลายแหลมๆกดที่ผิวกระจกโดยไม่ต้องออกแรงมาก ก็จะทำให้กระจกเทมเปอร์ระเบิดแตกได้อย่างง่ายดาย นั่นหมายความว่า เมื่อเรายึดกระจกเทมเปอร์กับฟิตติ้งแล้ว หากอุปกรณ์เบียดขอบกระจกหรืออาคารมีการเคลื่อนไหว ก็มีความเสี่ยงที่จะดันให้กระจกเทมเปอร์ระเบิดแตกด้วยตัวเองได้

กระจกเทมเปอร์ลามิเนต (Laminated Tempered Glass)
ทางเลือกที่ 2 คือการเลือกใช้กระจกเทมเปอร์ลามิเนต ซึ่งเป็นการนำกระจกเทมเปอร์จากทางเลือกที่ 1 แต่ผลิต 2 แผ่นแล้วนำมาประกบกันด้วยเทคนิคการลามิเนต ทำให้ได้กระจกที่มีความแข็งของเทมเปอร์แต่เป็นกระจกสองชั้นที่มีฟิล์มยึดอยู่ตรงกลาง ซึ่งหากไม่ได้มีการระบุชนิดฟิล์มที่จะใช้สำหรับกระจกลามิเนตแล้ว ก็จะหมายถึงการคั่นกลางด้วยฟิล์ม PVB

คุณสมบัติ
การนำกระจกเทมเปอร์ 2 แผ่นมาประกบเป็นกระจกลามิเนตส่วนใหญ่โดยใช้ฟิล์ม PVB คั่นกลาง จะให้การยึดเกาะระหว่างกระจกกับฟิล์มอย่างคงทนถาวร (การผลิตถูกควบคุมภายใต้มาตรฐาน มอก.ภาคบังคับ) ซึ่งเมื่อกระจกแตก นอกจากกระจกจะแตกเป็นเม็ดเล็กๆแล้ว กระจกก็จะยังคงถูกยึดไว้ด้วยฟิล์ม PVB ที่คั่นกลาง ทำให้ไม่มีเศษกระจกหลุดร่วงทลายลงมา
ต้องบอกก่อนว่าหากกระจกเทมเปอร์แตกทั้งสองแผ่น แม้จะไม่มีเศษหลุดร่วงออกมาทำอันตราย แต่กระจกแผ่นนี้จะย้วยๆ เพราะอยู่ด้วยฟิล์มนะครับ ซึ่งลองนึกภาพว่าหากเป็นระเบียงอาคารสูง กระจกที่แตกแผ่นนี้อาจไม่ได้ทำอันตรายกับคนที่อยู่ด้านล่าง ด้วยสภาพย้วยๆของกระจก ก็จะไม่ได้ป้องกันการตกหล่นของคนบนอาคารอีกต่อไปครับ
ข้อดีของกระจกเทมเปอร์ลามิเนต
- มีผิวกระจกที่แข็งแรง ทนแรงกระแทกได้ดี (เพราะผลิตจากกระจกเทมเปอร์)
- มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยสูง เพราะหากกระจกแตกแล้ว ก็ยังคงยึดเศษกระจกไว้ด้วยฟิล์มไม่ให้หลุดออกมาทำอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย
ข้อเสียของกระจกเทมเปอร์ลามิเนต
- สามารถแตกด้วยตัวเองเหมือนกระจกเทมเปอร์ในทางเลือกแรก
- ไม่เหมาะกับการติดตั้งกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ เพราะฟิล์ม PVB มีคุณสมบัติดูดซับน้ำ ทำให้ขอบกระจกมีรอยแยกตัวของกระจกเมื่อขอบกระจกโดนน้ำอย่างต่อเนื่อง

- ใช้เวลาในการผลิตนาน 7-14 วัน และต้องควบคุมการผลิตโดยโรงงานที่ได้มาตรฐาน (ถึงจะมีคุณภาพดี) เพราะกระจกเทมเปอร์ผิวจะไม่เรียบ เมื่อนำ 2 แผ่นมาประกบกันจะต้องควบคุมไม่ให้เกิดฟองอากาศระหว่างชั้นกลาง

- ราคาสูงกว่ากระจกเทมเปอร์แผ่นเดี่ยว >2.5 เท่า เพราะต้องใช้กระจกเทมเปอร์สองแผ่นบวกกับความหนาของฟิล์ม PVB ที่ต้องหนาพอที่จะป้องกันลอนคลื่น Roller Wave บนผิวกระจกเทมเปอร์
กระจกเทมเปอร์ลามิเนตฟิล์มเซนทรีกลาส (SentryGlas Laminated Tempered Glass)

ทางเลือกนี้จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด (และแพงที่สุด) สำหรับการเลือกใช้กระจกนิรภัยแล้วครับ เพราะจริงๆก็คือการใช้กระจกเทมเปอร์มาทำลามิเนตเหมือนทางเลือกที่ 2 แต่แทนที่จะใช้ฟิล์ม PVB ก็อัพเกรดมาใช้ฟิล์ม SentryGlas แทน (ผู้ผลิตบางรายอาจเรียกฟิล์มชนิดนี้สั้นๆว่า SGP)
คุณสมบัติ
ฟิล์มชนิดนี้จะเป็นเคมีคนละแบบกับ PVB โดยสิ้นเชิง คือเป็น Ionomer ที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของฟิล์ม PVB ดั้งเดิม มีคุณสมบัติที่มีความแข็ง คงตัวเป็นแผ่น และทนต่อความชื้นได้ดี ทำให้กระจกลามิเนตที่ใช้ฟิล์มชนิดนี้เหมาะที่จะนำมาใช้กับงานราวกันตกและระเบียงเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อกระจกเทมเปอร์แตกแล้ว กระจกจะยังคงรูปเป็นแผ่นอยู่ (แม้กระจกจะแตกละเอียดเป็นเม็ดไปแล้ว) นอกจากป้องกันเศษกระจกหล่นลงไปด้านล่างแล้ว ยังให้การป้องกันการตกจากอาคารสูงได้ในระดับหนึ่ง
ข้อดีของกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่ใช้ฟิล์มเซ็นทรีกลาส
- แข็งแรงทนทาน สามารถใช้งานกลางแจ้งได้โดยไม่มีปัญหาการแยกตัวของกระจก (delamination)
- มีความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยสูงที่สุด เพราะเมื่อกระจกแตก นอกจากจะไม่หล่นลงมาแล้ว ยังคงสภาพเป็นแผ่นให้การป้องกันการตกจากอาคารได้อยู่
ข้อเสียของกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่ใช้ฟิล์มเซ็นทรีกลาส
- ผลิตยากเหมือนกระจกเทมเปอร์ลามิเนตฟิล์ม PVB แถมยังหาผู้ผลิตยากขึ้นไปอีก ใช้เวลาในการผลิตนาน 7-14 วัน
- ราคาสูงกว่ากระจกเทมเปอร์ลามิเนตชนิดฟิล์ม PVB ประมาณ 1.5-2 เท่า (นั่นหมายความว่าแพงกว่ากระจกเทมเปอร์แผ่นเดี่ยวประมาณ 5 เท่า!)
ลองชมคลิปเปรียบเทียบการแตกของกระจกเทมเปอร์ กระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่ใช้ฟิล์ม PVB และกระจกเทมเปอร์ลามิเนตที่ใช้ฟิล์ม SentryGlas ได้ที่โพสต์นี้
แล้วควรเลือกแบบไหนดี?🤔
ต้องบอกก่อนนะครับว่าจริงๆแล้วไม่ว่าจะเลือกกระจกเทมเปอร์แผ่นเดี่ยวหรือเทมเปอร์ลามิเนต (หรืออีกชนิดที่ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้คือฮีทสเตร็งเท่นลามิเนต) ก็ไม่มีแบบไหนที่เราจะไปฟันธงได้ว่าผิดซะทีเดียวนะครับ เพราะจะว่าไปกระจกราวกันตกหรือระเบียงทั่วไปก็นิยมใช้กระจกเทมเปอร์แผ่นเดียวกันเยอะมากๆเลยครับ เพียงแต่ว่าต้องรู้ก่อนว่าพื้นที่ที่จะติดตั้ง หากกระจกแตกแล้ว มีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอันตรายมากแค่ไหน หากพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่สูงมาก และกระจกแตกแล้วกองอยู่ที่พื้นระเบียงที่เดิม ก็ถือว่าสามารถเลือกใช้กระจกเทมเปอร์แผ่นเดียวได้เลยครับ
แต่ในเคสที่เกิดปัญหาขึ้น เพราะพื้นที่ใช้งานลักษณะนี้มีคนอาศัยอยู่ด้านล่าง เราไม่สามารถยอมรับให้กระจกเกิดการแตกได้เลย เพราะหากแตกแล้วจะหล่นมาทำอันตรายกับคนได้อย่างรุนแรง ในกรณีนี้จำเป็นต้องเลือกใช้กระจกเทมเปอร์ลามิเนตครับ
แล้วในเชิงกฏหมายล่ะ?
พรบ.ควบคุมอาคารกำหนดให้ใช้กระจกนิรภัยหลายชั้น (หรือกระจกลามิเนต) สำหรับกระจกบนอาคารสูงที่อยู่เปลือกนอกอาคารเสมอครับ แต่กรณีของระเบียงบ้าน อันนี้กฏหมายไม่ได้บังคับ ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และลักษณะการใช้งานในแต่ละที่
สำหรับอาคารควบคุม (ซึ่งหมายถึงสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนใช้มากๆ เช่นอาคารขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล) มีการออกเป็นกฏกระทรวงกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ พ.ศ.2566 กำหนดให้กระจกที่ยึดกับราวกันตก ราวบันได และราวจับ จะต้องใช้เป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนตเสมอ เพราะการเป็นอาคารควบคุมหมายความว่ามีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของคนจำนวนมากครับ
สรุปแล้ว กฏหมายในปัจจุบันมีการบังคับให้ใช้กระจกลามิเนตสำหรับอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ และอาคารควบคุม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับส่วนรวม แต่ก็ไม่ได้บังคับสำหรับการใช้งานในอาคารอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ ยากที่จะเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่เพียงพอในการเลือกใช้กระจกให้ถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบ ผู้ติดตั้ง หรือผู้มีส่วนในวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ต้องขวนขวายหาความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติ ข้อดี ข้อเสีย ของวัสดุต่างๆ และนำเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคครับ และผมก็หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้ความรู้ที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้บ้างไม่มากก็น้อยครับ
เรื่องที่เกี่ยวข้อง