You are currently viewing การเชื่อมต่อกระจกด้วยกาวยูวี

การเชื่อมต่อกระจกด้วยกาวยูวี

บทความวันนี้ ผมขอเขียนถึงกาวมหัศจรรย์สำหรับงานกระจกที่มีชื่อว่า ‘กาวยูวี’ (UV Glue) ซึ่งเป็นกาวที่นิยมใช้สำหรับการเชื่อมต่อกระจกกับกระจก และกระจกกับสเตนเลสได้อย่างติดแน่นถาวร แน่นชนิดที่ว่าแกะยังไงก็แกะไม่ออกกันเลยทีเดียวครับ!

uvbonding

ถ้าท่านเคยไปเดินตามเอสบีหรืออินเด็กซ์ แถวๆโซนเฟอร์นิเจอร์นำเข้า หลายๆท่านอาจจะเคยเห็นเฟอร์นิเจอร์กระจกแบบเปลือยๆที่เค้าเอากระจกมาต่อๆกันเป็นชั้นวางของ โต๊ะ ตู้ต่างๆ โดยหากสังเกตที่รอยต่อของกระจกเหล่านี้ เราจะหาร่องรอยของกาวที่เอามาต่อกระจกไม่เจอเลยครับ เพราะจุดที่กระจกเชื่อมต่อกันนั้น มันจะเรียบติดสนิทกันเป๊ะๆ เลยทีเดียว!

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

และอีกแบบที่เราอาจจะเคยเห็นกันมาบ้าง คือศาลพระภูมิที่ทำด้วยกระจกทั้งหลัง แบบนี้เค้าใช้เทคนิคเอากระจกหลายๆแผ่นมาซ้อนๆกันโดยติดกระจกด้วยกาวยูวี ซึ่งเป็นงานเชื่อมต่อกระจกอีกแบบที่ต้องใช้ฝีมือและความละเอียดเป็นอย่างมากเลยครับ

prapum

นอกจากการเชื่อมต่อกระจกกับกระจกแล้ว อีกแบบนึงที่เห็นได้บ่อยในวงการเฟอร์นิเจอร์ ก็คือการต่อกระจกกับสเตนเลสแบบนี้ครับ

UVtable1

ภาพทั้งหมดข้างบนนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยการใช้ ‘กาวยูวี’ ซึ่งเป็นกาวที่มีเนื้อใสเหมือนน้ำ แต่ถูกออกแบบมาให้ทำปฏิกริยาให้เกิดการแข็งตัวได้ก็ต่อเมื่อโดนรังสียูวีเท่านั้น ถ้าไม่โดนรังสียูวีก็จะคงสภาพเป็นน้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ…

uvcure1

โดยก่อนที่เราจะซื้อกาวยูวีมาใช้ ต้องเลือกก่อนนะครับว่าเราจะติดกระจกกับกระจก หรือกระจกกับสเตนเลส เพราะกาวที่ใช้จะเป็นคนละสูตรกัน ผมเคยลองเอากาวสูตรติดกระจกกับกระจก มาลองติดกระจกกับสเตนเลสแล้ว ปรากฏว่าตอนทำมันก็พอติดได้ครับ แต่รู้สึกได้เลยว่าการยึดเกาะมันไม่ดีเท่าที่ควร เพราะปรกติแล้ว กาวพวกนี้ พอเราฉายแสงยูวีให้กาวทำปฏิกริยาโดยสมบูรณ์แล้ว เราจะดึงกระจกแยกออกจากกันแทบจะไม่ได้อีกเลยครับ ถึงได้ก็จะยากมากๆๆๆ เพราะกาวยูวีให้แรงยึดเกาะกระจกมากถึง 260 กิโลกรัมต่อตารางเซ็นติเมตร (ลองจินตนาการพื้นที่ติดกาวเล็กๆแค่ 1X4 ซม. ต้องใช้แรงมากถึง 1 ตันเศษ จึงจะแกะกระจกออกจากกันได้!!!)

การจะต่อกระจกด้วยกาวยูวี ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องยากนะครับ เพราะต้องการวัสดุหลักๆแค่สองอย่าง นั่นก็คือ ‘กาวยูวี’ และ ‘แสงยูวี’

BOHLE-UV-GLUE

uvlight1

แต่จริงๆแล้ว การติดกาวยูวีในหลายๆเคสก็ไม่ง่ายซักเท่าไหร่ เพราะปัญหาคือ ในระหว่างการฉายแสงยูวีให้กาวแห้ง ตัววัสดุที่เราต้องการเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็นกระจกกับกระจก หรือกระจกกับสเตนเลส จำเป็นจะต้องแนบติดกันอย่างสนิทแนบแน่น 100% ครับ จะให้มีช่องว่างได้อย่างมากก็ไม่เกิน 0.3 มิลลิเมตร เพราะกาวยูวีจะมีความไหลเหมือนน้ำและเข้าไปเติมในรอยต่อแค่นิดเดียวเอง ซึ่งหากผิววัสดุสองด้านที่จะเชื่อมต่อกันไม่แนบสนิท ก็อาจทำให้การเชื่อมต่อไม่แน่นเท่าที่ควรครับ

lightuv1

ดังนั้น เราจะต้องวางแผนและลำดับการทำงานให้ดี โดยเฉพาะเวลามีการต่อสันกระจก ว่าจะจัดวางกระจกยังไงให้สันกระจกแนบกับชิ้นงานอีกชิ้นได้แน่น ซึ่งผมขอบอกเลยครับว่า รูปแบบการต่อกระจกบางประเภท จะต่อกระจกให้แน่นในทุกๆด้านได้ยากมาก! เพราะนอกจากเราจะต้องคำนวณขนาดกระจกให้ถูกต้องแล้ว มันจะมีบางแผ่นที่ขนาดต้องเป๊ะสุดๆ เพราะจะเป็นแผ่นที่ต้องใส่เข้าไปในช่องที่ก่อนหน้าที่เราประกอบไว้ เรื่องนี้ยากที่จะอธิบายให้เข้าใจด้วยตัวอักษร แต่ผมจะลองพยายามอธิบายด้วยภาพนี้ละกันนะครับ

glassjoint

เพราะเหตุผลนี้ เราจึงจะเห็นได้ว่า พวกเฟอร์นิเจอร์ประเภทขาโต๊ะส่วนใหญ่ เค้าไม่ทำโครงตายตัวออกมายึดกับกระจกตรงๆ แต่จะใช้เป็นสเตนเลสกลึงหน้าเรียบชิ้นเล็กๆ มาติดกับกระจกก่อน แล้วค่อยเอากระจกที่ยึดสเตนเลสแล้ว มายึดกับขาโต๊ะอีกทีแบบนี้ครับ

uvbush1

พอเข้าใจหลักการของกาวยูวีบ้างแล้ว ทีนี้ ลองมาดูขั้นตอนในการทำงานจริงกันเลยครับ!

uvstep1

ขั้นตอนที่ 1 การวางแผนการต่อกระจก: อย่างที่บอกไปครับ ว่าเราต้องวางแผนการต่อกระจกให้ดีก่อน ส่วนนี้สำคัญที่สุด! บางรูปแบบเราอาจต้องมีอุปกรณ์ช่วยยึดจับกระจก ซึ่งถ้าไม่ได้มีงานโปรเจคที่ต้องการผลิตจำนวนมากๆ ต้องบอกเลยครับว่าไม่ค่อยคุ้มค่าการลงทุนเท่าไหร่ เพราะอุปกรณ์ช่วยจับกระจกพวกนี้ ออกแบบมาเฉพาะทางและมีราคาแพงมาก ส่วนใหญ่จึงต้องหาวิธีดัดแปลงเครื่องมือเอาเท่าที่จะทำได้มากกว่าครับ

uvstep2

ขั้นตอนที่ 2 การทำความสะอาดกระจก: จุดที่จะต่อกระจกด้วยกาวทุกจุด ควรจะต้องสะอาดปราศจากฝุ่นต่างๆให้มากที่สุดครับ แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ (IPA: Isopropanal) เพราะแห้งเร็วและทำความสะอาดได้ดี จากนั้นเป่าด้วยลมร้อนอีกซักรอบให้มั่นใจว่าพื้นที่ที่จะติดกระจกแห้งจริงๆ

uvstep3

ขั้นตอนที่ 3 ไล่ความชื้นด้วยความร้อน: จริงๆผมไม่ค่อยเห็นใครเอาไฟพ่นซูชิแบบนี้มาเป่ากระจกก่อนติดกาวยูวีเท่าไหร่ แต่เป็นวิธีที่ผู้ผลิตกาวเค้าแนะนำเพื่อไล่ความชื้นออกจากพื้นผิวเพื่อความมั่นใจในความแห้ง 100% ก่อนที่จะติดกาวครับ

uvstep4

ขั้นตอนที่ 4 ฉีดกาวยูวีเข้าไปที่รอยต่อกระจก: ผมแนะนำให้ฉีดกาวยูวีด้วยเข็มเล็กๆครับ (ใช้เข็มฉีดยาก็ได้) ยิงกาวปริมาณน้อยๆเข้าไปที่รอยต่อระหว่างกระจก เน้นเลยนะครับ ถ้ากาวเยอะไปจะติดไม่แน่นเท่ากาวบางๆ!

uvstep5

ขั้นตอนที่ 5 สังเกตเนื้อกาว: ในระหว่างยิงกาว เราจะเห็นเนื้อกาววิ่งแทรกเข้าไปในช่องรอยต่อระหว่างกระจกเอง ให้ยิงน้อยที่สุดเท่าที่จะเห็นว่าเนื้อกาวแทรกเข้าไปเต็มพื้นที่ที่จะยึดติดก็พอครับ มีทริคเล็กน้อยในระหว่างยิงกาวคือ เราสามารถขยับกระจกนิดหน่อยให้เนื้อกาววิ่งให้เต็มพื้นที่ได้ครับ

uvstep6

ขั้นตอนที่ 6 ทาบด้วยโคมยูวี: หากใช้โคมยูวีที่ออกแบบสำหรับการติดกระจกด้วยกาวยูวีโดยเฉพาะ จะใช้เวลาในการทำปฏิกริยา (Curing) ประมาณ 15-30 วินาทีก็พอครับ แต่โคมยูวีบางประเภทก็อาจต้องรอ 1-5 นาทีเลยก็มี (แต่ถ้า 5 นาทีไม่แห้งนี่ไม่ใช่ละ มีอะไรพลาดแน่ๆ) ตรงนี้ผมแนะนำให้ทดลองกับเศษกระจกเล็กๆแล้วจับเวลาดูก่อนก็ได้ครับ แต่การทาบด้วยโคมยูวีนานๆ ก็ไม่ได้มีผลกับประสิทธิภาพทำให้การยึดเกาะลดลงแต่อย่างใดนะครับ

uvstep7

ขั้นตอนที่ 7 เช็ดคราบกาวที่เหลือออก: เมื่อกาวเซ็ทตัวเรียบร้อยแล้ว เราสามารถทำความสะอาดคราบกาวที่อาจจะล้นออกมาที่ขอบได้เลย ก็เป็นอันเรียบร้อยครับ!

UVBonding640

จะเห็นได้ว่า การต่อกระจกด้วยกาวยูวี ด้วยวิธีการก็ไม่ถือว่ายากเท่าไหร่นะครับ เพียงแต่เราต้องดีไซน์รูปแบบการเชื่อมต่อให้เหมาะสมและต้องให้พื้นผิวสัมผัสแห้ง สะอาด และแนบสนิทเท่านั้นเอง!

อย่างไรก็ดี เราไม่ควรใช้กาวยูวีสำหรับงาน 2 ประเภทนี้นะครับ…

งานกระจกอาคาร: ปรกติงานอาคาร เราจะใช้ซิลิโคน เพราะเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นให้ตัวได้ ในขณะที่การต่อกระจกด้วยกาวยูวี จะเหมือนกับการเชื่อมกระจกให้แข็งติดเป็นแผ่นเดียวกัน ซึ่งไม่เหมาะสำหรับงานอาคารที่กระจกที่ต้องการการให้ตัวจากแรงสั่นสะเทือนต่างๆได้ และในความเป็นจริงเราก็ไม่มีปัญญาที่จะผลิตกระจกแผ่นใหญ่ๆให้มีขนาดฟิตเป๊ะเพื่อเชื่อมกระจกให้ติดกันในงานอาคารได้อีกด้วยครับ!

งานตู้ปลา: สาเหตุที่เค้าไม่แนะนำให้ใช้กาวยูวีในงานตู้ปลา หรือ Aquarium ต่างๆ หลักๆแล้ว เป็นเพราะคุณสมบัติของตัวกาวยูวีเองไม่กันน้ำครับ ซึ่งรอยต่อพวกนี้ พอจุ่มน้ำไว้ระยะยาวๆ ก็มีโอกาสที่จะเสื่อมสภาพลงไปทีละน้อยได้ และอีกอย่างคือ ตู้ปลาจะมีแรงเคลื่อนตัวของน้ำตลอดเวลา การใช้ซิลิโคนที่ยืดหยุ่นได้ตามรอยต่อกระจกจึงเหมาะสมกว่าครับ

fiamshelf

ผมว่ากาวยูวี เป็นของเล่นที่ช่วยให้เราทำอะไรสนุกๆกับงานกระจกได้เพิ่มขึ้นอีกมากเลยนะครับ สำคัญคือต้องเข้าใจในหลักการและข้อจำกัดของมัน แล้วเลือกออกแบบงานต่อกระจกหรือสเตนเลสต่างๆให้เหมาะสม ก็จะได้การเชื่อมต่อกระจกที่แข็งแรงและใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากๆเลยครับ!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

Credit ภาพ: Bohle