ถ้าพูดถึง ‘กระจกเงา’ คนส่วนใหญ่คงจะนึกถึงกระจกเงาที่เราใช้ส่องหน้าที่ห้องน้ำหรือตู้เสื้อผ้า ซึ่งกระจกเงาชนิดนี้ปรกติแล้วในวงการกระจกจะเรียกว่า “กระจกเงาใส” แต่จริงๆ นอกจากกระจกเงาใสแล้ว ในบ้านเรามีกระจกเงาสีมาตรฐานให้เลือกได้อีก 3 สีคือ กระจกเงาชา เงาทอง และเงาชาดำ ครับ
การผลิตกระจกเงา เร่ิมจากการนำกระจกโฟลตใสธรรมดานี่แหละครับ นำไปเคลือบด้วยชั้นเงิน (Silver) เพื่อให้เกิดภาพสะท้อนบนกระจก จากนั้นก็เคลือบทับด้วยทองแดง สีแบ็คหลัง และเคมีต่างๆเพื่อให้ชั้นเงินติดแน่นทนทาน ฟังดูแล้วไม่ยาก แต่ในขั้นตอนการเคลือบด้วยเงินนั้นจะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและการเคลือบผิวด้วยสารเคมีต่างๆต้องมีความแน่นหนาทนทาน ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศหรือความชื้นผ่านเข้าไปทำปฏิกิริยากับชั้นเงินที่เคลือบไว้ เพราะจะทำให้เงินที่เราเห็นภาพสะท้อนเงาๆเกิดเป็นคราบสนิมหรือคราบดำได้ครับ
ส่วนกระจกเงาสีต่างๆ ก็เกิดจากการนำกระจกสีชา สีบรอนซ์ หรือสีชาดำ ไปเคลือบด้วยชั้นเงินในแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดภาพสะท้อนที่ด้านหลังกระจกที่เรามองผ่านสีของกระจกที่ถูกนำไปเคลือบ ทำให้กระจกสีกลายเป็นกระจกเงาชา เงาทอง และเงาชาดำนั่นเองครับ
พอรู้จักกับกระจกเงาในรูปแบบต่างๆแล้ว ลองมาดูตัวอย่างการนำมาใช้งานที่น่าสนใจกันครับ
1) กระจกเงาสีต่างๆ (Tinted Mirror) ด้วยความที่กระจกมีผิวที่มันวาว ทำให้เกิดเงาประกายทำให้ห้องดูใหญ่ขึ้น ในขณะที่การใช้กระจกเงาสีต่างๆจะช่วยให้ไม่ทำให้เกิดภาพสะท้อนที่สว่างมากเกินไป จึงทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดกับภาพสะท้อนปริมาณมากๆในห้อง
กระจกเงาชาดำ
กระจกเงาทองและเงาใสตัดเป็นทรงข้าวหลามตัดเล็กๆและเจียปรี
กระจกเงาลามิเนทฟิล์มสี เป็นการนำกระจกเงามาลามิเนทกับฟิล์มสีต่างๆเพื่อให้ได้สีสันที่ต้องการ
2) กระจกเงาผิวซาติน (Satin Mirror) คือกระจกเงาที่ผิวหน้าถูกกัดด้วยกรด ทำให้ผิวกระจกไม่มันวาวและลดการสะท้อนของแสง กลายเป็นกระจกสีด้านๆ ซึ่งกระจกเงาผิวซาตินจะมีผิวคล้ายๆกับกระจกพ่นทรายครับ แต่มีความละเอียดเรียบเนียนและทำความสะอาดง่ายกว่า
กระจกเงาชาซาติน (Satin Grey Mirror)
กระจกผิวซาติน ลามิเนทกับกระจกเงาโดยใส่ชั้นฟิล์มสีส้ม
3) กระจกเงาพ่นทราย (Sandblasted Mirror) โดยการพ่นทรายกัดชั้นเงินที่เคลือบด้านหลังกระจกออกทำให้ส่วนที่ถูกพ่นทรายกลายเป็นฝ้า (ศัพท์ในวงการกระจกเรียกว่าพ่นทรายกัดปรอท แต่กระจกเงาสมัยนี้เคลือบด้วยชั้นเงินแต่ยังคงเรียกติดหูว่ากัดปรอทครับ) เมื่อนำหลอดไฟไปติดตั้งด้านหลังกระจกก็จะทำให้แสงส่องผ่านส่วนที่ถูกกัดปรอทออกมาด้านหน้า ทำให้ได้รูปแบบที่ดูสวยงามอย่างมีสไตล์ตามลวดลายที่ต้องการครับ
กระจกเงาใสสำหรับส่องหน้า เพิ่มกรอบพ่นทรายด้านหลังกระจกและฝังไฟไว้ด้านหลัง
กระจกเงาทองพ่นทรายกัดปรอท และซ่อนไฟ LED สีเหลืองไว้ด้านหลัง
4) กระจกเงาที่ตั้งใจทำให้เกิดคราบสนิม (Aged Mirror / Antique Mirror) มีทั้งแบบทำให้เกิดคราบสนิมจริงๆกับใช้เทคนิคการพิมพ์ลายลงไปบนกระจกเงาทำให้ดูเหมือนคราบสนิม ทำให้ได้ลุคแบบอินดัสเตรียล (Industrial) หรือแบบลอฟท์ (Loft) ที่น่าสนใจไปอีกแบบ
จะเห็นได้ว่า กระจกเงาสมัยนี้ มีรูปแบบที่หลากหลาย ดีไซน์แปลกใหม่มากขึ้น จึงสามารถเลือกนำไปออกแบบและใช้ในการตกแต่งอาคารให้เกิดบุคลิกที่น่าสนใจได้อย่างสนุกเลยทีเดียวครับ!
เรื่อง - กระจกไม่กระจอก - ภาพ Pinterest / Google Image / Centara Grand Ladproa / Centara Grand Phratumnak