You are currently viewing เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ‘กระจกสีตัดแสง’

เรื่องน่ารู้ เกี่ยวกับ ‘กระจกสีตัดแสง’

สำหรับหัวข้อวันนี้ ผมขอนำเสนอบทความในเรื่องของ ‘กระจกสีตัดแสง’…  แต่ก่อนอื่น ผมคงต้องอธิบายก่อนว่า กระจกสีตัดแสงคืออะไร? ใช่กระจกเขียวใสที่ทุกท่านรู้จักกันรึป่าว?

รู้จักกับ ‘กระจกสีตัดแสง’

กระจกสีตัดแสง ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า ‘Tinted Glass’ หรือ ‘Heat-Absorbing Glass’ จริงๆแล้วกระจกสีเหล่านี้ ก็จะมีส่วนประกอบเหมือนกระจกใสนี่แหละครับ แต่เค้าจะเพิ่มอ็อกไซด์ของโลหะชนิดต่างๆเข้าไปในน้ำกระจกในระหว่างขั้นตอนการหลอมกระจกโฟลต ซึ่งพวกโลหะเหล่านี้จะเป็นตัวที่ทำให้สีในเนื้อกระจกเข้มขึ้น และสามารถปรับส่วนประกอบของโลหะรวมถึงปริมาณที่ผสมเข้าไป เพื่อให้ได้เฉดสีและความเข้มของกระจกตามที่ต้องการ

guardian_tint_graph

จากภาพข้างบน จะเห็นได้ว่า เมื่อเราใส่โลหะเข้าไปในกระจกมากขึ้น (กราฟแท่งสีฟ้า) กระจกก็จะตัดแสงและความร้อนได้มากขึ้นเช่นกัน (กราฟเส้นสีแดงและเขียว) โดยการที่กระจกกันความร้อนได้มากขึ้น ก็เป็นเพราะปริมาณของสารโลหะที่ผสมเข้าไป จะเป็นตัวดูดซับความร้อนเอาไว้ในเนื้อกระจก จึงทำให้ความร้อนผ่านกระจกเข้ามาได้น้อยลงนั่นเองครับ

กระจกสีตัดแสง มีสีอะไรบ้าง?

เอาแค่สองค่ายกระจกยักษ์ใหญ่คือการ์เดียนและอาซาฮี เค้าก็มีเฉดสีที่ผลิตขึ้นมามากมายรวมกันหลายสิบเฉดสีแล้วครับ! แต่ที่รู้จักกันในวงการกระจกบ้านเราจริงๆก็มีไม่กี่เฉดสี และส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยกับการเรียกชื่อสีกระจกแบบเหมารวมมากกว่า ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นสีรุ่นไหน ของโรงงานอะไร อันนี้อาจจะเพราะว่าในอดีต กระจกสีตัดแสงในบ้านเราก็ไม่ได้มีให้เลือกมากมายนัก และที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยก็จะมีแค่ กระจกเขียวใส กระจกสีชาอ่อน สีชาดำ ประมาณนี้เท่านั้นเองครับ!

tint_colors

ในปัจจุบัน กระจกสีตัดแสงก็จะมีเฉดสีที่ขายกันในท้องตลาดอยู่ประมาณ 4 โทนสีครับ ได้แก่ สีเขียว สีชา สีเทา และ สีฟ้า

CG_out1

‘สีเขียว’ เป็นสียอดนิยมอันดับหนึ่งมหาอัมตะนิรันดร์กาลในบ้านเรา อันนี้อาจเป็นเพราะกระจกที่ทั้งสองค่ายผลิตออกมา แม้จะมีสีที่ต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงกันมากทีเดียว ซึ่งเมื่อยักษ์ใหญ่สองแรงแข็งขัน ช่วยกันโปรโมตกระจกเขียวอย่างจริงจัง บวกกับแรงโฆษณาของบ้านจัดสรรและคอนโดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ก็เลยช่วยกันทำให้ภาพลักษณ์ของกระจกเขียว กลายเป็นกระจกที่ใช้แล้วรู้สึกสบายตา และลดความร้อนในบ้านได้เป็นอย่างดี ซึ่งแม้การใช้กระจกเขียวใส (รุ่นเดิมๆ) ในบ้านพักอาศัยจะช่วยกันความร้อนได้ดีกว่ากระจกใสอยู่พอสมควร แต่จริงๆแล้ว ผมอยากแนะนำว่า ยังมีกระจกเขียวรุ่นใหม่ๆ บางตัวที่น่าใช้กว่ารุ่นเดิมมาก และที่สำคัญ… ราคาก็แทบจะไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่เลยครับ!

greentint1

เมื่อสามปีก่อน กระจกเขียวที่ได้ฉลากเบอร์ 5 จะทำได้ที่ความหนา 6 มม.ขึ้นไป (เช่น SMGI / SMGII และเขียวพานาซัพ) และบางตัวยังต้องใช้กระจกที่ความหนาถึง 8 มม. จึงจะได้ค่าประสิทธิภาพตามเกณฑ์  แต่ในช่วงหลังๆ ทั้งค่ายอาซาฮีและการ์เดียน ได้มีการพัฒนากระจกเขียวออกมาอีกหลายรุ่นที่มีค่าประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยในปัจจุบัน เราสามารถเลือกใช้กระจกเขียวความหนาเริ่มต้นแค่ 5 มม. ก็ได้รับฉลากกระจกอนุรักษ์พลังงานเบอร์ 5 จากกระทรวงพลังงานแล้วครับ! โดยกระจกเขียวที่ผ่านเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ความหนา 5 มม. ล่าสุดจะมีสองตัว ได้แก่ ‘SMGIII’ จากค่ายการ์เดียน และ ‘เอเนอร์จีกรีน’ จากทางอาซาฮีนั่นเอง!

eurogrey_out

‘สีเทา’ ต้องบอกว่าเป็นโทนสีที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ครับ แม้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายทั่วประเทศเท่ากับสีเขียว แต่ก็เป็นโทนสีที่คอนโดใหม่ๆเลือกใช้กันมากขึ้น โดยกระจกโทนสีเทาที่นิยมใช้กันมากในตอนนี้ คือ ‘กระจกสียูโรเกรย์’ (Eurogrey) ของอาซาฮีครับ แม้จะเป็นกระจกที่นำเข้าจากอินโด แต่ก็มีสต๊อกในเมืองไทยและหาของได้ไม่ยากนัก (ยกเว้นบางความหนา) ส่วนของการ์เดียนก็จะมีกระจกนำเข้าเช่นกัน ในชื่อว่า ‘คริสตัลเกรย์’ (CrystalGrey) ซึ่งกระจกตัวนี้จะมีสีอ่อนกว่ายูโรเกรย์ ส่วนการจะเลือกใช้สีไหน ก็แล้วแต่ความชอบเป็นหลักครับ

greyshade copy

ในการเลือกใช้กระจกสีตัดแสง นอกจากการเลือกเฉดสีที่ชอบแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรจะคำนึงถึงก็คือค่าการส่องผ่านของแสง (VLT) และค่าการส่งผ่านพลังงานความร้อน (SHGC) ของกระจก โดยผมได้รวบรวมค่าประสิทธิภาพของกระจกสีตัดแสงต่างๆที่มีจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทยบางตัวไว้ให้ดังนี้ครับ [อ่านบทความประกอบเรื่อง ‘การอ่านค่าประสิทธิภาพกระจกอย่างง่าย’ คลิ้กที่นี่]

table_tintedglass1

กระจกสีตัดแสง ใช้ๆไป กระจกก็มีโอกาสแตกเองได้… เพราะอะไร?

สาเหตุที่ฝรั่งเค้าเรียกกระจกสีตัดแสง ว่า Heat-Absorbing Glass ซึ่งแปลตรงตัวก็คือ ‘กระจกอมความร้อน’ ก็เพราะว่ากระจกเหล่านี้ มันช่วยลดความร้อนที่ผ่านกระจกเข้ามาได้ ด้วยการอมความร้อนไว้ที่กระจก  ซึ่งกรณีที่กระจกสีตัดแสงถูกตากแดดนานๆ ทั่วกันทั้งแผ่น ความร้อนที่สะสมในกระจกจะค่อนข้างสม่ำเสมอกัน จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องกระจกแตกจากความร้อน (Thermal Breakage) ครับ

cracktint

แต่ถ้าในบริเวณนั้น มีร่มเงาบางส่วนที่มาบังแดดไว้ ทำให้กระจกบางส่วนตากแดด และบางส่วนไม่โดนแดด (Shading) ตรงนี้จะทำให้อุณหภูมิที่สะสมในกระจกแผ่นนั้นแตกต่างกัน และทำให้กระจกแตกเองได้ครับ!

thermalgreaktint

ในกรณีที่จะมีการใช้กระจกสีตัดแสง โดยเฉพาะกระจกสีเข้มๆ (ซึ่งจะมีค่าการดูดกลืนพลังงานความร้อนมากกว่าสีอ่อนๆ) หากบริเวณที่จะติดตั้งกระจกได้รับแสงแดดไม่เท่ากัน ควรจะเลือกใช้เป็นกระจกเทมเปอร์หรือฮีทสเตร็งเท่น ซึ่งกระจกสองชนิดนี้จะช่วยลดปัญหาในเรื่องของ ‘Thermal Breakage’ ที่เป็นตัวการทำให้กระจกแตกเองได้เป็นอย่างมากเลยครับ!

วันนี้เราพอจะรู้จักเกี่ยวกับทางเลือกที่หลากหลาย และข้อดีข้อเสียของกระจกสีตัดแสงกันไปบ้างแล้วนะครับ  ไว้โอกาสหน้า… ผมจะมาเจาะลึกข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระจกรุ่นใหม่ๆ บางตัว ที่มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี และราคาไม่แพงนัก เผื่อไว้เป็นข้อมูลในการเลือกใช้กระจกสำหรับการอยู่อาศัยต่อไปนะครับ!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

credit ภาพ: Guardian / PPG