เจ้าของอาคารสูงถูกฟ้อง กระจกสะท้อนแสงรบกวนเพื่อนบ้าน

อาคารสูงระวัง! อาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายไม่รู้ตัว เพราะกระจกสะท้อนแสง (Reflective) บางชนิด มีค่าการสะท้อนแสงมากเกินไป อาจทำให้ชาวบ้านข้างเคียงเดือดร้อนได้

มีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เจ้าของอาคารขนาดใหญ่ย่านสุขุมวิท ที่ใช้กระจกสะท้อนแสงรอบตัวอาคารต้องจ่ายค่าเสียหายแก่เจ้าของบ้านใกล้เคียงที่ฟ้องคดีจำนวน 4 ราย รายละ 10,000 บาทต่อปี และเจ้าของตึกแถว 3 ราย รายละ 7,000 บาทต่อปี เพราะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงเวลา 15:30-18:00 น. จะเกิดแสงสะท้อนจากอาคารชุดสาดใส่บ้านใกล้เคียง ทำให้เดือดร้อนไปตามๆกัน โดยเจ้าของอาคารจะต้องจ่ายค่าเสียหายตลอดไป จนกว่าจะแก้ปัญหาได้แล้วเสร็จ

คดีนี้สู้กันถึงสามศาล โดยทางจำเลยสู้คดีว่า แสงแดดที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่แปรผันไปตามฤดูกาลในแต่ละช่วงของปี จึงมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อหรือจงใจให้เกิด ซึ่งสองศาลแรกก็เห็นคล้อยตามกัน จนมาถึงศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “กรณีบุคคลใดใช้สิทธิของตน เป็นเหตุให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคาดคิดหรือคาดหมายได้ แม้สิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไป บัญญัติให้เป็นสิทธิเฉพาะตัวของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่การที่โจทก์อาศัยอยู่ในบ้านและได้รับผลกระทบจากแสงสว่างที่สะท้อนจากอาคารของจำเลย สาดส่องเข้าในบ้านด้วย การกระทำของจำเลย ย่อมถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์”

สุดท้ายศาลฏีกาตัดสินให้โจทย์ชนะคดี และบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายต่างๆแก่โจทย์ในที่สุด | ที่มา: มติชนออนไลน์

แนวทางการเลือกใช้กระจกให้ไม่ถูกฟ้อง ทำไงดี

กฏกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารใช้กระจกภายนอกที่มีค่าการสะท้อนแสงไม่เกิน 30% แต่คดีนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า แม้จะใช้กระจกตามที่พระราชบัญญัติกำหนดแล้ว ก็ไม่มีสิทธิ์สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่บ้านใกล้เรือนเคียงได้ และจริงๆแล้ว กระจกสะท้อนแสง (หรือ Reflective Glass) ที่จำหน่ายอยู่ในบ้านเรา ทุกตัวก็มีค่าสะท้อนแสงไม่เกินที่กฏหมายกำหนดอยู่แล้ว

กระจกสะท้อนแสง จริงๆแล้วก็คือกระจกโค้ทติ้งชนิดหนึ่ง ที่ใช้หลักการเคลือบอนุภาคโลหะ (Metal Oxide) ลงบนผิวกระจกใสหรือกระจกสี และด้วยความที่มีโลหะบางๆเคลือบอยู่บนผิวกระจก จึงช่วยลดความร้อนที่ผ่านเข้ามาในอาคารได้ค่อนข้างดี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการที่จะสะท้อนความร้อนได้มาก ก็ต้องสะท้อนแสงออกไปมากๆด้วยเช่นกัน จึงเป็นที่มาที่เราเรียกกระจกชนิดนี้ว่ากระจกสะท้อนแสงหรือ Reflective Glass นั่นเอง

ในความเห็นผม จริงๆแล้วกระจกรีเฟล็กทีฟเป็นกระจกที่เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศไทยมาก เพราะบ้านเรามีแสงแดดที่ค่อนข้างจะรุนแรงอยู่แล้ว จึงเหมาะที่จะใช้กระจกที่ช่วยสะท้อนแสงและความร้อนออกไป กระจกชนิดนี้จึงเป็นที่นิยมและพบได้มากในตึกอาคารสำนักงานต่างๆในใจกลางเมือง

กระจกสะท้อนแสงที่จำหน่ายในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นกระจกในกลุ่ม Mid Reflective คือมีค่าสะท้อนแสงอยู่ในช่วง 18-24% ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในอาคารสำนักงานที่สามารถมองจากในอาคารออกไปนอกอาคารได้อย่างสะดวกสบายในช่วงกลางวัน (แต่กลางคืนคนข้างนอกจะมองเห็นข้างในหมดเลยเหมือนกันนะ) ซึ่งค่าการสะท้อนประมาณนี้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในแง่ตัวบทกฏหมาย แต่ปัจจุบัน สถาปนิกหลายๆท่านเริ่มที่จะเลือกกระจกที่มีค่าสะท้อนแสงประมาณ 15-20% เพื่อให้อยู่ใน Safe Zone เพราะบางครั้ง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแสงที่ตกกระทบในบางช่วงเวลา อาจจะไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียงหรือเปล่า รวมถึงในระยะหลังๆมีแนวโน้มที่จะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การกำหนดค่าสะท้อนแสงของวัสดุภายนอกอาคารให้ต่ำลง

สรุปก็คือ การเลือกใช้กระจกสะท้อนแสง ควรจะต้องศึกษาสิ่งแวดล้อมและอาคารรอบข้างให้ดีก่อน หากอยู่ในบริเวณที่ไม่เสี่ยงต่อการที่แสงสะท้อนจะไปสร้างความรำคาญแก่เพื่อนบ้าน ก็สามารถเลือกกระจกชนิดใดก็ได้ที่ค่าการสะท้อนไม่เกิน 30% หรือหากอยู่ในบริเวณที่มีเพื่อนบ้านหนาแน่น แต่สามารถ Simulate ทิศการสะท้อนของแสงต่างๆแล้วมั่นใจว่าไม่มีปัญหาแน่ ก็สามารถเลือกใช้กระจกสะท้อนแสงที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง-สูงหน่อย ประมาณไม่เกิน 25% แต่หากต้องการชัวร์ๆ แบบเซฟๆก็เลือกกระจกค่าสะท้อนต่ำกว่า 20% ครับ

ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกใช้กระจกสะท้อนแสง

อย่างในรูปนี้ เป็นโปรเจคที่มีชื่อว่า Invisible House Joshua Tree ซึ่งปล่อยเช่าอยู่ใน Air BNB ผู้ออกแบบบ้านหลังนี้เลือกใช้กระจกที่มีค่าสะท้อนแสงสูงกว่า 50% ซึ่งแน่นอนว่าเป็นค่าที่สูงมาก กรณีนี้ดูๆแล้วก็นึกไม่ออกว่าจะไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ใครผู้ใดได้ แถมการที่ใช้กระจกที่มีค่าสะท้อนสูงมาก ทำให้เงาสะท้อนทำให้ตัวอาคารดูกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ไปเลย

ถ้าถามผม ผมจึงมีความเห็นว่า การที่มีการกำหนดค่าสะท้อนของอาคารไม่เกิน 30% (และมีแนวโน้มจะปรับลดเป็น 20-25%) เป็นสิ่งที่ควรมีการกำหนดกฏเกณฑ์ไว้ให้ปฏิบัติตามอยู่แล้วครับ แต่สิ่งที่สำคัญมากๆในการเลือกใช้กระจก คือจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมและ Context ของพื้นที่ หากเลือกใช้แล้วไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ใคร และมีค่าสะท้อนไม่เกินกฏหมายกำหนด ก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนถ้าเป็นการสร้างอาคารที่ไม่สูงมากอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว และมีระยะห่างจากพื้นที่ภายนอก มีรั้วรอบขอบชิดที่ป้องกันแสงสะท้อนจะไปรบกวนเพื่อนบ้านหรือผู้สัญจรภายนอก กรณีนี้สามารถเลือกใช้กระจกสะท้อนแสงได้อย่างเต็มที่ไปเลยครับ!

Edited on 2024-06-05