ยกระดับกระจกลามิเนตไปอีกขั้น ด้วยฟิล์ม ‘SentryGlas’

วันนี้ผมขอลงลึกในเรื่องของกระจกลามิเนตบ้างนะครับ ถ้าพูดถึง 'กระจกนิรภัยลามิเนต' (Safety Laminated Glass) หลายๆท่านอาจจะทราบว่า หมายถึงกระจกที่ใช้ฟิล์ม PVB มาประกบแซนด์วิช…

วันนี้ผมขอลงลึกในเรื่องของกระจกลามิเนตบ้างนะครับ ถ้าพูดถึง ‘กระจกนิรภัยลามิเนต’ (Safety Laminated Glass) หลายๆท่านอาจจะทราบว่า หมายถึงกระจกที่ใช้ฟิล์ม PVB มาประกบแซนด์วิชไว้ตรงกลางระหว่างกระจกสองแผ่น เพื่อให้เมื่อกระจกแตกแล้วไม่มีส่วนแหลมคมออกมาทำอันตรายเราได้ แบบนี้…

lm-sandwich

คำว่า ‘กระจกนิรภัยลามิเนต’ นี่ เราไม่นับรวมกระจกสำหรับงานตกแต่งภายในที่ไม่ได้ต้องมีคุณสมบัติเป็นกระจกนิรภัย อย่างเช่น กระจกลามิเนตลายผ้า กระจกพ่นสีหรือกระจกเงาที่เอามาประกบกันด้านหลัง งานแนวๆนี้ ส่วนใหญ่จะผลิตด้วยฟิล์ม EVA ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนยาง จึงไม่เหมาะที่จะนำมาให้ใช้งานที่ต้องการความปลอดภัยและการยึดเกาะของกระจกกับฟิล์มสูงเท่ากับกระจกนิรภัยสำหรับงานอาคารนะครับ

lm_type

สำหรับกระจกนิรภัยลามิเนตส่วนใหญ่ที่เราเห็นๆกันตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ จะใช้ ‘ฟิล์ม PVB’ เป็นหลัก คำว่า ‘PVB’ ย่อมาจาก ‘โพลีไวนิลบิวทิรัล’ (Polyvinyl Butyral) ซึ่งเป็นเรซิ่นชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการนำมาทำกระจกลามิเนตมากๆ เพราะให้การยึดเกาะกับกระจกสูง แต่มีความยืดหยุ่นกำลังดี ทำให้กระจกสามารถป้องกันการทะลุทะลวงได้ดีในระดับนึงทีเดียว และที่สำคัญ… มีราคาที่ไม่แพงมากนัก ฟิล์มชนิดนี้ จึงเรียกได้ว่าแทบจะเป็นทางเลือกเดียวในการใช้กระจกนิรภัยลามิเนตสำหรับงานอาคารมาอย่างยาวนาน

pvb

ส่วนฟิล์ม ‘เซ็นทรีกลาส’ (SentryGlas) หรือที่บางคนเรียกว่า ‘SGP’ หรือ ‘INP’  ชื่อนี้อาจจะค่อนข้างใหม่สำหรับหลายๆท่าน แต่จริงๆแล้วฟิล์มชนิดนี้ถูกคิดค้นโดยดูปองท์ (Dupont) มาตั้ง 18 ปีแล้ว! โดยเป็นฟิล์มตระกูลไอโอโนพลาสท์ (Ionoplast) ที่ใช้ส่วนประกอบทางเคมีแตกต่างกับ PVB โดยสิ้นเชิง! ในช่วงแรกๆจะมีเฉพาะที่เป็นแผ่นแข็งๆเหมือนไม้อัด เวลาใช้ต้องนำแผ่นฟิล์มมาตัดแล้วนำมาประกบกับกระจก แต่ในปัจจุบัน เค้าผลิตออกมาเป็นม้วน (เฉพาะที่ความหนา 0.89 มม.) ทำให้มีความคล่องตัวในการผลิตมากยิ่งขึ้น ประกอบกับซัพพลายของฟิล์มที่เริ่มจะมีมากขึ้นเพียงพอต่อความต้องการแล้วในปัจจุบัน (เพราะแต่ก่อนของช็อทมากๆครับ ผลิตไม่พอความต้องการในตลาดโลก!) ทำให้หลังๆมานี้ เราจะเร่ิมได้ยินชื่อฟิล์มเซ็นทรีกลาสมากขึ้นเรื่อยๆในตลาดกระจกบ้านเราครับ

sgp_sheet

ทีนี้ เรามาดูการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของฟิล์ม 2 ชนิดนี้ในแง่ต่างๆบ้างนะครับ!

1. สีของฟิล์ม

PVB มีสีให้เลือกหลากหลายสี ในขณะที่ SentryGlas ปัจจุบันมีเพียงสีใสสีเดียว แต่ได้ข่าวจากผู้ผลิตว่าเร็วๆนี้ จะมีสีขาวออกมาเป็นทางเลือกอีกสีด้วยครับ

compare1

2. การทนต่อน้ำและความชื้น

lami_edge_delam1

ในบทความ ‘2 เรื่องต้องห้ามในการใช้กระจกลามิเนต’ ผมเคยเขียนถึงคุณสมบัติของฟิล์ม PVB ว่าไม่สามารถใช้ในที่ที่ขอบกระจกถูกน้ำหรือความชื้นเป็นเวลานานๆได้ เพราะ PVB จะดูดความชื้นเข้าไปในเนื้อฟิล์ม ทำให้เกิดปัญหาการแยกตัวที่ขอบกระจก (Edge Delamination) ตามมาได้ แต่ปัญหานี้จะไม่เกิด ถ้าใช้ฟิล์ม SentryGlas ครับ เพราะฟิล์มชนิดนี้ไม่กลัวน้ำและความชื้น จึงสามารถใช้งานโชว์ขอบกระจกในที่เปียกหรือแม้แต่สระน้ำโดยไม่ต้องกลัวปัญหา Delamination ที่ขอบกระจกแต่อย่างใด!

sgp2

3. ความแข็งของฟิล์ม

ฟิล์ม SentryGlas จะมีความแข็งของเนื้อฟิล์มมากกว่า PVB ถึง 100 เท่าเลยทีเดียว!  คุณสมบัติข้อนี้ ทำให้ฟิล์ม SentryGlas เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัดเวลาที่กระจกแตก (โดยเฉพาะถ้าใช้กระจกเทมเปอร์) แข็งกว่ายังไงต้องดูภาพเปรียบเทียบด้านล่างเลยครับ!

compare3

ซึ่งคุณสมบัติการคงตัวของฟิล์ม SentryGlas นี้ ทำให้เหมาะเป็นอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้กับงานพื้น งานหลังคา หรือราวระเบียง เพราะสมมุติว่ากระจกแตกและแผ่นที่แตกเป็นเทมเปอร์ ฟิล์มก็จะยังคงช่วยรับน้ำหนักของคนหรือสิ่งของหนักๆไว้ได้โดยไม่ทะลุลงมา

compare2a

4. การแอ่นตัวของกระจก

เมื่อกระจกมีแรงมากระทำ ไม่ว่าจะเป็นแรงลมหรือน้ำหนักของสิ่งของต่างๆ สิ่งที่ทำให้กระจกแตกก็คือการแอ่นตัวของกระจก (Deflection) ซึ่งเมื่อกระจกแอ่นตัวถึงจุดหนึ่งก็จะแตกครับ! ยิ่งถ้าเป็นกระจกลามิเนตด้วยฟิล์ม PVB กระจกจะเกิดการแอ่นตัวได้มากกว่ากระจกแผ่นเดี่ยวที่ความหนาเท่ากันด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากระจกแผ่นเดี่ยวหนา 10 มม. จะแอ่นตัวน้อยกว่ากระจกลามิเนตหนา 5+5 ฟิล์ม PVB ที่แรงมากระทำเท่าๆกัน ซึ่งแปลว่า ถ้าเราเลือกใช้กระจกลามิเนตฟิล์ม PVB จะต้องใช้กระจกที่ความหนามากขึ้น เช่น 6+6 เป็นต้นครับ

compare4

แต่ถ้าเป็น SentryGlas ด้วยคุณสมบัติการทนต่อแรงฉีกขาด (Tear Strength) ที่มากกว่า PVB 5 เท่า และการทนต่อแรงดึง (Tensile Strength) มากกว่า 70% ทำให้เราสามารถใช้กระจกที่ความหนารวมน้อยลงกว่าฟิล์ม PVB  ตรงนี้จะเห็นผลมากๆสำหรับอาคารขนาดใหญ่ เพราะการลดน้ำหนักกระจกลง 10-20% นี่ช่วยลดต้นทุนด้านโครงสร้างของอาคารไปได้พอสมควรเลยครับ

5. ราคา

ทีนี้มาว่ากันที่เรื่องสำคัญกันบ้าง อย่างที่ผมอธิบายมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ฟิล์ม SentryGlas มีคุณสมบัติเด็ดๆเหนือกว่า PVB มากมายตั้งหลายเรื่อง แล้วทำไมเราไม่ยกเลิกฟิล์ม PVB แล้วหันมาใช้ฟิล์ม SentryGlas กันให้หมดทุกงานเลยล่ะ?  ก็เพราะว่าราคาฟิล์มมันแพงกว่า PVB มากไงครับ!  เช่น ถ้ากระจกลามิเนตฟิล์ม PVB ราคา 100 บาท กระจกที่ใช้ฟิล์ม SentryGlas จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 130-150 บาท (อันนี้โดยประมาณไว้เป็นไอเดียนะครับ เพราะสัดส่วนของราคาจริงๆแล้วมันมีรายละเอียดของชนิดกระจกอีกหลายประเภทมากๆที่อาจทำให้ราคาแตกต่างกันไป)

building

แต่อย่างที่ผมบอกไว้ว่ากระจกลามิเนตที่ใช้ฟิล์มเซ็นทรีกลาสจะมีค่าการแอ่นตัวน้อยกว่าฟิล์ม PVB ทำให้เราใช้กระจกที่บางลงได้ที่การรับแรงเท่าๆกัน ซึ่งทำให้บางครั้ง แม้กระจกจะมีราคาสูงขึ้น แต่พอกระจกมีน้ำหนักเบาลง ส่วนของโครงสร้างก็จะประหยัดลงตามได้เช่นกันครับ

จะเห็นได้ว่า ฟิล์ม SentryGlas มีคุณสมบัติที่เหนือกว่า PVB ในหลายๆเรื่องเลยนะครับ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ฟิล์มชนิดนี้ยังคงนิยมใช้กันอยู่เฉพาะในกลุ่มอาคารขนาดใหญ่และโครงการชั้นนำที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ส่วนงานทั่วไปในบ้านเรา ต้องถือว่ายังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนักครับ

lm_exposededge1

แต่ถ้ามีงานในลักษณะที่ต้องใช้กระจกลามิเนตกลางแจ้ง หรือในที่เปียกน้ำ และต้องมีการโชว์ขอบกระจก ผมขอเน้นย้ำอีกครั้งครับ ว่าให้พยายามเลี่ยงการใช้ฟิล์ม PVB เพราะระยะยาวจะมีปัญหาค่อนข้างแน่นอน ถ้าต้องการใช้กระจกลามิเนตจริงๆ ควรเลือกสเปคเป็นฟิล์ม SentryGlas จะดีกว่ามากเลยครับ!

Interior View looking Down The Ledges

ในความคิดส่วนตัว… ผมว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้ฟิล์มเซ็นทรีกลาสมาแทนที่ฟิล์ม PVB ในกรณีที่เรานำกระจกมาทำเป็นพื้นครับ! เพราะความแข็งของฟิล์มจะช่วยให้ความปลอดภัยในการรองรับน้ำหนักได้สูงกว่ามากๆในเวลาที่กระจกแตก และเหตุผลอีกอย่างก็คือ ฟิล์ม PVB จะมีคุณสมบัติที่อ่อนตัวลงเรื่อยๆในที่ที่อุณหภูมิสูงขึ้น อย่างเช่นถ้าในบางช่วงเวลาที่อากาศบ้านเรามีอุณหภูมิแตะ 40 องศาเซลเซียส กระจกลามิเนตที่ใช้ฟิล์ม PVB จะสูญเสียคุณสมบัติการรับแรงไปค่อนข้างมาก ในขณะที่ฟิล์ม SentryGlas จะยังคงมีความแข็งและสามารถรับแรงได้อยู่ครับ ไว้ถ้ามีโอกาสและได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ผมจะแชร์คลิปการทดสอบในเรื่องนี้ให้ดูความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนมากเลยครับ!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

ที่มาของข้อมูล - Kuraray / sentryglas.com -

ที่มาภาพบางส่วน - Grand Canyon / Clear Glass Solutions / Google Image -

 

 

 

 

 

 

 

 

Edited on