เมื่อทางการนอร์เวย์มีความคิดที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์เพลงร็อคแห่งชาติที่มีชื่อว่า ‘Rockheim Museum’ แทนที่จะสร้างอาคารใหม่ให้ทันสมัยสมเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ… โกดังเก่าๆที่ดูเชยๆแห่งนี้กลับถูกได้รับเลือกครับ!
ดูยังไงก็ไม่เห็นจะน่าสนใจเลยใช่มั้ยครับ? แต่บริษัท Pir II ที่ได้รับเลือกให้ออกแบบโปรเจคนี้กลับไม่คิดอย่างงั้น แถมเค้ายังออกแบบโดยคงสถาปัตยกรรมเดิมของอาคารแห่งนี้ไว้อีกด้วย โดยเพียงแค่สร้างกล่องกระจกขนาดใหญ่ขึ้นมาครอบอยู่บนอาคารแห่งนี้อีก 1 กล่องครับ!
แนวคิดในการเลือกตึกเก่าสภาพร้างแห่งนี้ เกิดมาจากคอนเซ็ปของคำว่า ‘ร็อค’ ที่เป็นแนวเพลงที่ดิบๆ ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เค้าเลยเลือกสถานที่ที่เป็นอาคารก่ออิฐเปลือยๆ แถมภายในยังเป็นปูนดิบๆ โดยผู้ออกแบบกล้าถึงขนาดที่จะปล่อยอาคารหลายๆชั้นให้ร้างๆโชว์ความดิบให้แก่ผู้มาเยี่ยมชมแบบนี้เลย (ในภาพด้านล่างเป็นบริเวณคาเฟ่ เห็นดิบๆแบบนี้ แฝงความไฮเทคไว้ทุกอณูนะครับ)
สถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้ ทั้งภายในและภายนอก จะสร้างเรื่องราวให้ผู้มาเยี่ยมชมเห็นถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างความเก่า (แต่เก๋า) กับความใหม่ (แบบไฮเทค) ตลอดตัวอาคาร อย่างเช่น กล่องกระจกที่สร้างไว้เหนืออาคารแห่งนี้ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยของกระจกพิมพ์ลายดิจิตอลและแผงไฟ LED ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์กว่า 14,000 ดวง ในขณะที่ตึกเก่าด้านใต้ ยังคงความคลาสสิคของอาคารยุคเก่าไว้เช่นเดิม
โดยเจ้ากล่องกระจกที่ติดตั้ง LED ชุดนี้ ไม่ใช่แค่กล่องไฟธรรมดาๆนะครับ เค้าสามารถที่จะโปรแกรมข้อความหรือรูปภาพตามแต่สถานการณ์หรือ event ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆได้ตามต้องการ และที่ล้ำขึ้นไปอีกขั้นคือ ผู้ที่มาเยี่ยมชมอาคารแห่งนี้ สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างกราฟิกแบบเรียลไทม์ (realtime) ให้ไปปรากฏอยู่บนกล่องไฟเหนืออาคารแห่งนี้ได้เลย!
LED เปลี่ยนสีเหล่านี้ จึงกลายเป็นไฮไลท์ของอาคารที่สร้างความน่าสนใจแก่ผู้พบเห็นได้อย่างมากในยามค่ำคืน แต่ถ้าเป็นเวลากลางวัน กระจกพิมพ์ลายดิจิตอลจะเป็นพระเอกของอาคารนี้ครับ!
เพราะกระจกที่อยู่ในกล่องเหนืออาคารนี้ จะถูกพิมพ์ภาพหน้าปกอัลบั้มเพลงร็อคของนอร์เวย์ไว้หลายร้อยอัลบั้ม สร้างสตอรี่ให้กับคนที่มาเยี่ยมชมได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวครับ เพราะเวลาเรามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เพลงร็อคแห่งนี้ เราจะได้สนุกกับการทำความรู้จักกับอัลบั้มเพลงต่างๆผ่านกระจกเหล่านี้ไปพร้อมๆกันด้วย
กระจกเหล่านี้ผลิตโดย บริษัท Rakla ประเทศฟินแลนด์ โดยใช้กระจกเทมเปอร์ลามิเนต ยึดกระจกด้วยสไปเดอร์ และติดตั้งแผงไฟ LED ไว้ด้านหลังแผ่นกระจกทุกแผ่น ส่วนการพิมพ์ลวดลายต่างๆลงบนกระจก ทำได้โดยการพิมพ์กระจกด้วยหมึกเซรามิคก่อนจะนำหมึกที่พิมพ์ไปหลอมให้ติดบนกระจกอย่างถาวรด้วยการอบเทมเปอร์ครับ
หลังการเปิดตัว Rockheim Museum แห่งนี้ในปี 2010 สถานที่แห่งนี้ก็ได้รับการชื่นชมเป็นอย่างมาก ถึงความกล้าในการออกแบบที่ตอบโจทย์ความเป็นร็อคได้เป็นอย่างดี และยังทำให้ตึกเก่าๆแห่งนี้ กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของชาวนอร์เวย์ไปโดยปริยายครับ!
Credit: dip-tech.com / worldarchitecturenews.com / rakla.fi เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -