You are currently viewing ‘Pearl Bangkok’ ตึกใหม่ของพฤกษา

‘Pearl Bangkok’ ตึกใหม่ของพฤกษา

  • Post author:
  • Post category:Design

ช่วงนี้ถ้าใครผ่านไปแถวซอยอารีย์ คงจะเห็นตึกรูปร่างแปลกตาที่กำลังก่อสร้างอยู่ และงานก็คืบหน้าไปมากเพราะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว

ตึกนี้มีชื่อว่า Pearl Bangkok’ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานแห่งใหม่ของพฤกษา เรียลเอสเตทนั่นเอง โดยคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ กล่าวถึงที่มาของชื่อ ‘The Pearl’ ว่ามาจากแนวคิด ‘ไข่มุกแห่งอันดามัน’ ซึ่งผมอยากจะถามคุณทองมาจริงๆครับ (แต่ไม่มีโอกาส) ว่าตัวอาคารมีรูปทรงเหมือนไข่มุกหรือสีเหมือนไข่มุก หรือว่าเป็นเพียงการตั้งชื่อตามหลักการบางอย่างที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรูปทรงของอาคาร… หรือไม่อย่างไร?

pearl1

สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้พูดถึงรูปทรงของอาคารแห่งนี้ว่า มีความละม้ายคล้ายคลึงกับอาคาร ’30 St Mary Axe’ หรือที่รู้จักในฉายาว่า ‘the Gherkin’ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษมากเลยทีเดียว!

pearl_compare1

จากการสำรวจดีไซน์ของอาคารสองแห่งนี้ ผมว่ามันไม่มีความเหมือนกันเลยนะครับ ไม่เหมือนจริงจริ๊งงง… (เสียงสูงมาก) ถ้าไม่เชื่อ ลองมาเปรียบเทียบอาคารสองแห่งนี้ในแง่มุมต่างๆ กันดีกว่าครับ!

1) ขนาดอาคาร: ถ้าเทียบในเรื่องขนาดแล้ว The Gherkin มีจำนวนชั้น 40 ชั้น และความสูง 180 เมตร ในขณะที่ Pearl Bangkok มี 25 ชั้น (ไม่รวมชั้นใต้ดินอีก 3 ชั้น) และสูงเพียง 130 เมตรเท่านั้นครับ

HEIGHT

2) รูปทรงอาคาร: ฐานของอาคาร The Gherkin จะเป็นทรงกลม และจะกลมแต่เรียวขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงยอด ทำให้ตึกนี้มีฉายาหรือชื่อเรียกอีกชื่อว่า ‘the Gherkin’ (เกอร์คิ่นเป็นแตงกวาชนิดหนึ่งของฝรั่ง) แต่จริงๆผมว่าเหมือนหัวกระสุนมากกว่า

comparebullet1

สำหรับ Pearl Bangkok หัวจะมนกว่า จะว่าไปก็คล้ายๆสากกะเบืออยู่พอสมควร แต่ฐานจะไม่เป็นทรงกลมครับ ตัวฐานอาคารจะแบนกว่าเป็นทรงวงรี ก็เลยมีบางคนบอกว่าตัวอาคารจะแบนๆคล้ายกล้วยตาก!

pearl_thainame

compare_shape

3) ขนาดของทรงข้าวหลามตัด: อาคาร The Gherkin ใน 1 ช่องสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน จะครอบคลุมความสูงเท่ากับ 4 ชั้น ส่วน Pearl Bangkok 1 ช่องจะมีความสูงเท่ากับ 2 ชั้นเท่านั้นครับ

oneblockcompare

ต้องขอชื่นชมสถาปนิก ‘Norman Foster’ ที่ออกแบบตึก 30 St Mary Axe ซึ่งมีแนวคิดที่ชาญฉลาดมาก ในการใช้กระจกทรงสามเหลี่ยมทุกแผ่นตลอดตัวอาคาร ทำให้เกิดรูปทรงโค้งโดยใช้กระจกแผ่นเรียบทุกแผ่น (ตึกนี้มีกระจกโค้งเพียงแผ่นเดียวคือกระจกวงกลมที่อยู่ยอดตึกครับ)

gherkin_foster

4) การวนของลายบนตึก: คนละด้านกันตามภาพ Pearl Bangkok เราจะวนขึ้นไปทางขวา ส่วน The Gherkin เค้าวนไปทางซ้ายครับ

swirlcompare

5) ระบบหมุนเวียนอากาศในตัวตึก: ตึก The Gherkin มีการใช้หลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamic) ในการสร้างระบบหมุนเวียนอากาศภายในตัวตึก โดยมีการออกแบบช่องอากาศที่เฟรมแนวนอนเพื่อสร้างระบบไหลเวียนอากาศ (Fresh Air) เข้าออกในตัวตึก ส่วนของ Pearl Bangkok จะเป็นระบบปิดและอาศัยระบบหมุนเวียนอากาศจากเครื่องปรับอากาศล้วนๆครับ

pearl_wind

airflow_pearl

airduct_pearl

6) ดีไซน์ภาพลักษณ์ตัวตึกในยามค่ำคืน: The Gherkin ใช้คุณสมบัติของกระจกสะท้อนแสงในเวลากลางวันและใช้ไฟภายในอาคารในเวลากลางคืน โดยไม่มีการใช้ไฟ LED ที่กรอบของทรงข้าวหลามตัด / Pearl Bangkok ใช้ปริมาณกระจกสีเข้มมากกว่า และติดตั้งไฟ LED เปลี่ยนสีได้ที่กรอบของทรงข้าวหลามตัด ทำให้ตึกดูโดดเด่นมากขึ้นในยามค่ำคืน

compare_nitetime copy

pearl_ledcompare1

Mock up กระจก LED เปลี่ยนสีได้สำหรับตึก Pearl Bangkok (credit ภาพ: AAG Corporation)

ตึก Pearl Bangkok แห่งนี้ออกแบบโดยปาล์มเมอร์ แอนด์ เทอร์เนอร์ และงานติดตั้งกระจกโดย AAG Corporation ซึ่งก็ติดตั้งกระจกเสร็จไปแล้วกว่าครึ่งตึกครับ ต้องบอกว่าออกมาสวยเลยสำหรับอาคารของพฤกษาแห่งนี้ ซึ่งเมื่อตึกนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ ก็คงจะเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพได้อย่างแน่นอนครับ!

เครดิตภาพ: skyscrapercity.com / estudioquagliata.com

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -