กระจกพ่นสี… วัสดุปิดผนังธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ในช่วงหลังๆนี้ ต้องถือได้ว่า 'กระจกพ่นสี' 'กระจกเคลือบสี' หรือ 'กระจกกลาสโค้ท' ได้กลายเป็นวัสดุปิดผนังยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งไปแล้วนะครับ!  อาจเป็นเพราะว่า กระจกพ่นสี เป็นวัส…

ในช่วงหลังๆนี้ ต้องถือได้ว่า ‘กระจกพ่นสี’ ‘กระจกเคลือบสี’ หรือ ‘กระจกกลาสโค้ท’ ได้กลายเป็นวัสดุปิดผนังยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งไปแล้วนะครับ!  อาจเป็นเพราะว่า กระจกพ่นสี เป็นวัสดุที่ดูใหม่อยู่เสมอ ด้วยผิวที่มันวาวและทำความสะอาดง่ายของกระจก แถมยังสามารถผลิตได้แทบจะทุกสีที่ต้องการเลยก็ว่าได้ และที่สำคัญ เพราะเนื้อสีที่พ่นลงบนกระจก จะติดอยู่ด้านในกับผนัง ทำให้เราเห็นเนื้อสีที่มีมิติ และชั้นสีพ่นก็จะถูกปกป้องอยู่ด้านหลังของกระจกตลอดอายุการใช้งานอีกด้วยครับ!

ckusage

กระจกชนิดนี้ เหมาะมากที่จะใช้กรุผนังห้องครัว เพราะทำความสะอาดคราบสกปรกต่างๆได้ง่าย แต่ถ้าอยู่ใกล้กับเตาความร้อน อย่าลืมเลือกใช้เป็นกระจกเทมเปอร์ก่อนนำมาพ่นสีด้วย เพราะกระจกเทมเปอร์จะทนความร้อนได้ดีกว่ากระจกธรรมดามากเลยครับ

ถ้าลองสังเกตธนาคารต่างๆ โดยเฉพาะสาขาใหม่ๆ เค้าก็นิยมใช้กระจกพ่นสีเป็นฉากด้านหลังเคาน์เตอร์ ซึ่งเราจะพบเห็นกระจกชนิดนี้ได้ในหลายๆธนาคารเลยทีเดียว

krungsri1

scb1

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ktb

ks_ex1

tmb

การผลิตกระจกพ่นสี ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะนิยมใช้วิธีการพ่นสเปรย์ เพราะสามารถผสมสีปริมาณน้อยๆให้พอดีกับพื้นที่กระจกที่ต้องการพ่นได้ แต่การที่อยู่ดีๆจะเอาสีอะไรก็ได้แล้วเอามาพ่นกระจกเลยนี่ มันพ่นไม่ติดนะครับ!  เพราะว่ากระจกเป็นวัสดุที่มีผิวลื่นและมันวาวมาก ไม่ว่าเราจะใช้สีที่มีการยึดเกาะดีซักแค่ไหน สีก็จะไม่มีทางที่จะเกาะติดกับกระจกอย่างคนทนถาวรได้เลย

splashback2

ผู้ผลิตแต่ละรายอาจจะมีแหล่งที่มาของสีที่ใช้แตกต่างกันไป แต่ที่สำคัญก็คือ สีที่จะใช้พ่นกระจกได้ จะต้องมีการใส่สารเคมีสูตรเฉพาะ (Additive) ที่ทำให้สีมีการยึดเกาะกับกระจกได้ดีเพิ่มเข้าไปในเนื้อสี แต่ชนิดของสารที่ว่าจะเป็นอะไรนั้น… ส่วนใหญ่จะเป็นความลับและสูตรเฉพาะของผู้ผลิตแต่ละรายครับ

ck_green

มาดูในแง่ของผู้ใช้งานบ้าง ปรกติแล้ว ถ้าเราเลือกใช้กระจกพ่นสีที่มีคุณภาพเป็นที่ไว้วางใจได้ ก็ไม่น่าจะเกิดปัญหาอะไร เพราะพอติดตั้งไปแล้ว มันก็จะอยู่อย่างนั้นไปชั่วลูกชั่วหลานเลยทีเดียว!  แต่ถ้าผู้ผลิตใช้สีที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบมาเป็นอย่างดี… ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดก็คือ เรื่องของสีหลุดลอกครับ!  ซึ่งปัญหานี้จะไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดหรอกนะครับ ส่วนใหญ่จะเกิด 2-3 เดือน หรือนานไปจนหลายๆปีจึงเริ่มเห็นรอยสีหลุดลอกก็เป็นได้

defect1defect2

สาเหตุที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากๆ ก็เพราะว่าเวลาเราติดตั้งกระจกพ่นสีเข้าไปที่ผนัง ตัวกระจกเองไม่ได้เป็นส่วนที่ถูกติดไว้กับผนังนะครับ แต่เป็นชั้นสีที่เป็นส่วนที่ถูกยึดกับกาวหรือซิลิโคนไว้กับผนัง ซึ่งถ้าสีที่พ่นกับกระจกไว้ ไม่มีการยึดเกาะที่ดีพอ เวลาใช้งานไปสักระยะ ตัวชั้นสี โดยเฉพาะส่วนที่ยึดกาวติดไว้กับผนัง ก็จะหลุดออกจากกระจกจนเห็นเป็นดวงๆตามภาพข้างบนนี่แหละครับ!

coloradhere

ในการใช้งานกระจกพ่นสี มีข้อที่ควรทราบและควรระวังที่ผมพอสรุปได้ดังนี้

1. ซิลิโคนหรือกาวที่ใช้ยึดกระจกกับผนัง สำคัญมากเลยนะครับ ที่เราจะต้องใช้ซิลิโคนหรือกาวตามที่ผู้ผลิตแนะนำเท่านั้น เพราะหากใช้กาวผิดประเภท บางทีติดตั้งไปแล้ว กระจกอาจขึ้นเป็นดวงๆเห็นเป็นรอยกาวได้ครับ

yellowsilicone

2. ผนังหลังที่ติดกระจก จริงๆแล้วจะเป็นผนังอะไรก็ได้ แต่ขออย่าให้ชื้น และไม่ขรุขระจนเกินไป ถ้าเป็นผนังก่ออิฐหรือคอนกรีตใหม่ๆ ส่วนใหญ่ ช่างจะปูทับด้วยไม้อัดไว้อีกชั้น ก่อนที่จะติดตั้งกระจกพ่นสีทับลงไปครับ

3. ยิงกาวเป็นก้อนที่ด้านเคลือบสี ที่แนะนำให้ยิงกาวเป็นก้อนไม่ใช่เป็นเส้น เพราะการยิงกาวเป็นก้อน จะให้การยึดเกาะที่ดีกว่า โดยเฉพาะกรณีที่พื้นผนังเอียงไม่ได้ระนาบ เราจะสามารถปรับระนาบของกระจกได้ไปในตัว โดยแนะนำให้ยิงกาวก้อนละประมาณ 20-30 กรัม เว้นระยะห่างสักประมาณ 1 ฟุตต่อลูกก็ได้ครับ ซึ่งพื้นที่ 1 ตรม. เราจะใช้ซิลิโคนคร่าวๆประมาณ 1 หลอดพอดีครับ

applysilicone

4. หาวิธีตรึงกระจกรอการแห้งตัว เมื่อติดตั้งกระจกเข้ากับผนังแล้ว เราอาจต้องรอการแห้งของกาวประมาณ 1 ชม. ถึง 5 วัน ขึ้นอยู่กับระยะเวลาเซ็ทตัวที่แนะนำของผู้ผลิตกาวนั้นๆ ในระหว่างที่รอกาวแห้ง เราจะต้องหาวิธีในการยึดกระจกไว้ให้อยู่กับที่ จะใช้ไม้ค้ำหรือเทปกาวอันนี้ก็สุดแล้วแต่ลักษณะของหน้างานครับ

splashpatt

จะเห็นได้ว่า กระจกพ่นสี เป็นวัสดุปิดผนังที่ทดแทนกระเบื้องหรือหินได้เป็นอย่างดี แม้จะมีข้อเสียตรงที่ว่าจะต้องวัดและสั่งผลิตตามขนาดของพื้นที่หน้างาน แต่การสั่งผลิตตามขนาด ก็ทำให้เราได้เลือกสีได้หลากหลายตามที่ต้องการ และยังมีรอยต่อน้อยกว่ามาก นอกจากนี้ ด้วยเทคโนโลยีกระจกในยุคนี้ เรายังสามารถเพิ่มออปชันในการเติมลวดลายกราฟิกหรือรูปภาพต่างๆลงบนกระจกได้อีกด้วยครับ!!!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

 

 

 

Edited on