You are currently viewing กระจก Low-E กับ Reflective… เลือกแบบไหนดี?

กระจก Low-E กับ Reflective… เลือกแบบไหนดี?

สวัสดีครับ หลังจากว่างเว้นจากการเขียนบทความไปนาน ผมขอกลับมาทำหน้าที่นำเสนอบทความสาระความรู้เกี่ยวกับกระจกเช่นเคยนะครับ ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายๆท่านสอบถามเกี่ยวกับการเลือกใช้กระจกเพื่อลดความร้อนภายในอาคาร ว่ากระจกชนิดไหนเอามาทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง และกระจกแต่ละชนิด มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ผมจึงขอถือโอกาสเขียนบทความนี้เพื่อแนะนำเกี่ยวกับกระจกเคลือบสารเพื่อการประหยัดพลังงาน หรือในที่นี้ขอเรียกง่ายๆว่ากระจกโค้ทติ้ง (Coated Glass) ละกันนะครับ!

ถ้าพูดถึงกระจกที่เราจะเลือกใช้เพื่อการประหยัดพลังงาน ผมแนะนำให้มองไปที่ ‘กระจกโค้ทติ้ง’ เป็นหลักได้เลยครับ! ซึ่งจะหมายถึงกระจกที่มีการเคลือบสารอะไรบางอย่างไว้ที่ผิวเพื่อป้องกันความร้อนเข้ามาในอาคารโดยเฉพาะ ส่วนพวกกระจกสีเขียว สีชาต่างๆ ที่เราเรียกว่ากระจกสีตัดแสง (Tinted Glass) ก็พอจะช่วยในแง่การประหยัดพลังงานได้เช่นกัน แต่ถ้าเทียบประสิทธิภาพกันจริงๆแล้ว กระจกสีตัดแสงจะมีประสิทธิภาพสู้กระจกโค้ทติ้งไม่ได้เลยครับ

ทีนี้พอพูดถึงกระจกโค้ทติ้ง จริงๆก็มีวิธีการแบ่งประเภทได้ตามเทคนิคการเคลือบผิว หรือสารที่นำมาเคลือบ แต่เพื่อความง่ายในการอธิบายให้เข้าใจ ผมขอแบ่งกระจกโค้ทติ้งเป็นสองประเภท คือกระจก Low-E (โลว์อี) และกระจก Reflective (รีเฟล็กทีฟ) ถึงแม้ว่ากระจกทั้งสองชนิดนี้ จะใช้หลักการเคลือบสารโลหะไว้ที่ผิวกระจกเพื่อสะท้อนความร้อนออกไปเหมือนๆกัน แต่ก็มีความต่างกันตรงที่ กระจกรีเฟล็กทีฟ จะเคลือบสารโลหะที่ให้การสะท้อนแสงสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโลหะที่มีความแข็งและทนต่อสภาวะอากาศได้ดี จึงสามารถนำกระจกไปใช้งานแผ่นเดี่ยวๆ หรือโชว์ด้านเคลือบได้ และตัดความร้อนโดยใช้หลักการสะท้อนทั้งคลื่นแสงและความร้อนออกไปพร้อมๆกัน

แต่ถ้าเป็นกระจก Low-E ส่วนใหญ่จะเคลือบผิวกระจกโดยใช้สารเงิน (Silver / Ag) เป็นส่วนประกอบ พร้อมกับสารโลหะอื่นๆ โดยเคลือบไว้บางๆที่ผิวกระจก ซึ่งสารเคลือบบางๆที่ว่านี้ ยังคงให้แสงส่องผ่านเข้ามาได้มาก และมีการสะท้อนแสงที่ค่อนข้างต่ำ แต่สารเคลือบนั้น เค้าจะเลือกที่ตัดรังสีอินฟาเรดโดยเฉพาะ ทำให้ความร้อนผ่านเข้ามาได้น้อยลง ในขณะที่ยอมให้แสงสว่าง ส่องผ่านกระจกเข้ามาได้มากกว่ากระจกรีเฟล็กทีฟ ทำให้กระจก Low-E มีความใส ดูเป็นธรรมชาติมากกว่ากระจกรีเฟล็กทีฟ

ถ้าอย่างนั้นกระจกโลว์อีก็ดีกว่ารีเฟล็กทีฟสิ?

ก็ไม่จริงเสมอไปครับ!  เพราะอย่างที่ผมบอกไปว่ากระจก Low-E จะใช้สารเงินเป็นสารเคลือบหลักในการสะท้อนพลังงานความร้อนออกไป จึงทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งานมากกว่ากระจกรีเฟล็กทีฟที่ใช้โลหะที่มีความแข็งและทนต่อสภาวะอากาศได้ดีกว่า โดยกระจก Low-E ส่วนใหญ่ จะไม่สามารถใช้งานเป็นแบบแผ่นเดี่ยวๆที่โชว์ด้านเคลือบอยู่นอกกระจกได้ครับ ต้องนำมาประกบเป็นกระจกลามิเนตหรือกระจกอินซูเลทก่อนจึงจะใช้งานได้ ในขณะที่กระจกรีเฟล็กทีฟส่วนใหญ่จะผลิตแบบฮาร์ดโค้ท (เคลือบผิวภายนอกแบบแข็ง) สามารถที่จะใช้งานแบบโชว์ด้านเคลือบไว้ภายนอกได้ โดยสภาวะอากาศภายนอกจะไม่ทำให้สารเคลือบเป็นกระดำกระด่างแบบกระจก Low-E ในรูปได้ครับ

และข้อดีของกระจกรีเฟล็กทีฟอีกอย่างก็คือ ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวสำหรับผู้อยู่อาศัยมากกว่า โดยในเวลากลางวันที่แสงภายนอกมีมากกว่าแสงสว่างในอาคาร ผู้คนที่อยู่ภายนอกอาคารจะไม่สามารถมองทะลุเข้ามาเห็นภายในอาคารได้ ทำให้อาคารที่มีการใช้งานในตอนกลางวัน อย่างเช่นอาคารสำนักงาน ตึกออฟฟิสต่างๆ นิยมใช้กระจกรีเฟล็กทีฟโดยไม่ต้องติดม่านกรองแสง ในขณะที่กระจก Low-E จะนิยมสำหรับอาคารสมัยใหม่ที่ต้องการความโปร่ง โล่งสบาย มีแสงธรรมชาติเข้ามาในอาคาร และที่สำคัญคือมีค่าการสะท้อนของแสงไม่มาก ทำให้ไม่เห็นเงาสะท้อนจากกระจกในเวลากลางคืนครับ

ปัจจัยในการเลือกใช้กระจก Low-E และกระจก Reflective

1) ชนิดของกระจกที่จะใช้

กระจก Low-E จะต้องนำมาทำลามิเนตหรืออินซูเลทเสมอ เพื่อให้ด้านเคลือบหลบอยู่ด้านในของกระจกสองชั้นที่มาประกบกัน ในขณะที่กระจกรีเฟล็กทีฟเราสามารถใช้แผ่นเดี่ยวๆ จะเป็นเทมเปอร์ ลามิเนต หรืออินซูเลทก็ได้หมดครับ! (จริงๆแล้วก็มีกระจก Low-E  แบบ Hard Coat บางชนิดที่สามารถติดตั้งแบบด้านเคลือบอยู่ภายนอกได้เช่นกันครับ แต่ค่าประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำและมีเป็นส่วนน้อยมาก)

2) ชนิดของอาคาร

กระจก Low-E เหมาะสำหรับใช้งานในที่ที่ต้องการแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน และไม่ต้องการการสะท้อนของแสง จึงเหมาะกับแทบทุกประเภทการใช้งาน เช่น บ้านพักอาศัย โรงแรม-รีสอร์ท อาคารสำนักงาน โดยเน้นในเรื่องของการประหยัดพลังงานและแสงธรรมชาติเป็นหลักครับ

ส่วนกระจกรีเฟล็กทีฟ จะไม่เหมาะสำหรับการใช้ในที่พักอาศัย เพราะในเวลากลางคืน เมื่อเราอาศัยอยู่ในอาคาร เราจะเห็นเงาสะท้อนบนกระจก ทำให้รู้สึกไม่สบายตาเท่าไรนัก แต่ถ้าเป็นอาคารที่ใช้งานเฉพาะเวลากลางวัน จะช่วยกรองแสงที่ผ่านเข้ามาในอาคาร ทำให้รู้สึกสบายตา ในขณะที่ภายนอกจะไม่สามารถมองผ่านเข้ามาในอาคารได้ จึงเหมาะสำหรับอาคารสำนักงานหรือออฟฟิซที่เน้นการใช้งานในเวลากลางวันครับ

3) สีและลุคของกระจก

กระจก Low-E ส่วนใหญ่จะมีค่าการส่องผ่านของแสงประมาณ 40-70% และกระจกจะเป็นสีธรรมชาติ ใส เทาอมฟ้า ส่วนกระจกรีเฟล็กทีฟจะมีสีสันหลากหลายกว่า โดยมากจะนิยมสีฟ้าและสีเขียวสะท้อนแสง และสีใหม่ในโทนสีเทาที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น มีค่าการส่องผ่านของแสงน้อยกว่า ที่ประมาณ 20-50%

4) งบประมาณ

ถ้าเทียบกระจก Low-E กับกระจกรีเฟล็กทีฟแผ่นเดี่ยวๆตัวต่อตัว (ไม่นับที่เอามาทำเทมเปอร์ ลามิเนต หรืออินซูเลท) กระจก Low-E จะมีราคาสูงกว่ากระจกรีเฟล็กทีฟประมาณ 30-100% ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานและเทคโนโลยีการผลิตครับ แต่เนื่องจากกระจก Low-E จะต้องนำมาทำลามิเนตหรืออินซูเลท จะนำมาใช้แผ่นเดียวไม่ได้ จึงทำให้ราคาค่อนข้างสูงขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับการนำกระจกรีเฟล็กทีฟมาใช้งานแผ่นเดียวหรือทำเทมเปอร์ครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาเลือกใช้กระจกประหยัดพลังงานก็คือค่าประสิทธิภาพของกระจก เช่น SHGC / VLT / Reflectance / U-Value ฯลฯ ซึ่งผมจะมาแชร์ค่าประสิทธิภาพของกระจก Low-E และรีเฟล็กทีฟที่มีจำหน่ายในตลาดกระจกบ้านเราในลักษณะของการรีวิวเปรียบเทียบต่อไป อีกไม่นานเกินรอครับ!

เรื่องเก่าที่เกี่ยวข้อง

'การอ่านค่าประสิทธิภาพกระจก (อย่างง่าย)'

'เลือกกระจกให้เหมาะ เพื่อรับมือกับความร้อน'
เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

ภาพ - PPG / Dezeen.com -