You are currently viewing 6 ปัญหาที่พบบ่อยหลังติดตั้งกระจกลามิเนต

6 ปัญหาที่พบบ่อยหลังติดตั้งกระจกลามิเนต

สำหรับงานกระจกโฟลตหรือกระจกเทมเปอร์ทั่วไป หลังจากติดตั้งแล้ว หากส่งงานผ่าน ส่วนใหญ่เราก็มักจะมั่นใจได้เลยครับ ว่ากระจกจะไม่ค่อยเกิดปัญหาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะไปจากเดิมแล้ว แต่ถ้าเป็นกระจกลามิเนต ต้องบอกว่ายังมีโอกาสที่กระจกจะเกิดปัญหาตามมาให้ปวดหัวหลังจากส่งมอบงานก็เป็นได้!

ผมก็เลยขอถือโอกาสนี้ รวบรวมภาพปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นหลังจากติดตั้งกระจกลามิเนต และแชร์แนวทางการวิเคราะห์สาเหตุไว้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการตรวจสอบปัญหาเบื้องต้นต่อไปครับ

distortmain

ปัญหาแรกที่มักจะเกิดขึ้นได้ ตามภาพข้างบน ไม่ว่าจะเป็นภาพสะท้อนที่บิดเบี้ยว หรือภาพที่เรามองผ่านกระจกจะบิดเบี้ยวก็ตาม ภาษาอังกฤษเค้าเรียกว่า ‘Optical Distortion’ (ED) แปลว่า ‘การบิดเบือนของกระจก’

ซึ่งในการวิเคราะห์ปัญหาในส่วนนี้ อาจต้องวิเคราะห์โดยแยกชนิดกระจกก่อนครับว่า กระจกลามิเนตที่เราพบปัญหานี้ ผ่านการอบเทมเปอร์หรือฮีทสเตร็งเท่นมาหรือไม่?

กรณีที่ 1: กระจกเทมเปอร์ลามิเนตให้ภาพที่บิดเบี้ยว

distort1-copy

ถ้าเป็นกรณี่ที่ใช้กระจกลามิเนตเทมเปอร์ มีโอกาสที่ผิวกระจกจะเป็นลอนคลื่นได้จากกระบวนการอบเทมเปอร์ ซึ่งปรกติแล้ว โรงงานผู้ผลิตจะต้องมีการควบคุมลอนคลื่นไม่ให้เกินมาตรฐาน จนทำให้เห็นภาพบิดเบือนได้ครับ

กรณีที่ 2: กระจกลามิเนต Anneal ให้ภาพบิดเบี้ยว

distort2

ถ้าเป็นกระจกไม่เทมเปอร์ (Annealed Glass) มาทำลามิเนตโดยเฉพาะกระจกบางๆ อันนี้ผมว่าควรเช็คที่การติดตั้งก่อนเลยครับ  บางครั้ง ผู้ติดตั้งมีการยัดกระจกเข้าไปในเฟรมซึ่งทำให้กระจกไม่ได้ระนาบและมีความบิดเบี้ยวจากการติดตั้ง ซึ่งตรงนี้นอกจากทำให้เกิดภาพบิดเบือนแล้ว ยังเสี่ยงที่กระจกจะวิ่งแตกเองได้ในอนาคตอีกด้วย ถ้าตรวจสอบแล้วมั่นใจว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่การติดตั้ง ผมแนะนำให้ปรึกษาผู้ผลิตกระจก เพราะเป็นไปได้เหมือนกันที่กระบวนการผลิตอาจทำให้กระจกมีความโค้งได้เหมือนกัน แต่ก็มีโอกาสไม่มากเท่าไหร่

กรณีที่ 3: การขันฟิตติ้งแน่นเกินไป

spidertight

ในภาพข้างบน ภาพจะเกิดการบิดเบี้ยวบริเวณรอบๆจุดที่ยึดฟิตติ้งสไปเดอร์ อันนี้ชัดเจนเลยว่าปัญหาเกิดจากการขันน็อตที่ฟิตติ้งแน่นเกินไป ทำให้เห็นเป็นภาพบิดเบี้ยวในบริเวณรอบๆฟิตติ้งเพราะในส่วนนั้นจะบางกว่ากระจกในส่วนอื่นๆครับ

การขันฟิตติ้งแน่นเกินไปในกระจกลามิเนต นอกจากทำให้เกิดปัญหาการบิดเบี้ยวของภาพ (Optical Distortion) แล้ว ในระยะยาวอาจทำให้เกิดปัญหาการแยกตัวของกระจกบริเวณรอบๆรูฟิตติ้งอีกด้วยครับ เพราะความหนาของฟิล์มบริเวณที่ถูกหนีบไว้ จะไม่เพียงพอในการยึดกระจกสองแผ่นเข้าด้วยกัน ทำให้กระจกค่อยๆเกิดการแยกตัว Delamination ตรงรอบๆขอบกระจก และทำให้ความชื้นเล็ดลอดเข้าไปตามขอบกระจกที่เกิดการแยกตัวอีกด้วย

delamspider1

ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า เราควรจะขันกระจกแน่นเท่าไหร่ถึงจะพอดี เพราะถ้าขันเบาไปก็อาจทำให้ยึดกระจกไม่แน่นได้ ตรงนี้ ต้องขึ้นอยู่ผู้ผลิตฟิตติ้งจะเป็นผู้กำหนดครับ เพราะฟิตติ้งแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ มีการกำหนดค่า Torque ในการขันไว้ไม่เท่ากัน (มีตั้งแต่ช่วง 10 N/m – 70 N/m เลยครับ!) แต่อย่างน้อยขอแนะนำว่า ถ้ามีการติดตั้งกระจกลามิเนตโดยใช้ฟิตติ้งสไปเดอร์ยึดกระจก ควรใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Torque Wrench (ประแจทอร์ค) ซึ่งเราสามารถเลือกแรงขันที่ต้องการแล้วขันยึดอุปกรณ์ได้จนสุดโดยไม่ต้องกลัวว่าจะแน่นเกินกว่าค่าที่เราตั้งไว้

torque

กรณีที่ 4: การแยกตัวของกระจกที่บริเวณขอบ

4delam

ปัญหานี้ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากมุมกระจก หรืออาจจะเกิดตามขอบกระจกก็ได้ โดยหากกดกระจกบริเวณที่เห็นรอยแยก ถ้ารอยแยกมีการเคลื่อนตัวหรือน้อยลง แสดงว่ากระจกในบริเวณนั้นได้แยกตัวออกจากกันกับฟิล์มหรือที่เรียกว่า ‘Delaminate’ เรียบร้อยแล้ว…

ส่วนใหญ่การแยกตัวลักษณะนี้จะเกิดกับกระจกเทมเปอร์หรือฮีทสเตร็งเท่นลามิเนต โดยสาเหตุหลักๆ ภาษาทางเทคนิคเค้าเรียกว่า ‘Edge Lift’ คือกระจกเกิดการแยกตัวจากกันบริเวณขอบ เพราะหลังการผลิตกระจกเทมเปอร์หรือลามิเนต บางครั้งขอบกระจกมีการยกตัวไปคนละทางกัน ทำให้เมื่อนำมาประกบในกระบวนการลามิเนต ผู้ผลิตหลายๆรายจะนำคลิปมาหนีบไว้ที่ขอบกระจก เพื่อบังคับให้ขอบกระจกหนีบเข้าติดกับฟิล์ม เป็นการลดความเสี่ยงของปัญหาฟองอากาศ ทำให้กระจกที่เสร็จออกมาดูเรียบร้อยสวยงามดีครับ…

clip1

แต่เมื่อติดตั้งกระจกไประยะหนึ่ง ด้วยธรรมชาติของกระจกที่ขอบกระจกมีการแยกตัวหันไปคนละทาง (ซึ่งตอนผลิตกระจกโดนบังคับไว้ให้ขอบหนีบเข้าด้วยกัน) จึงทำให้ขอบกระจกค่อยๆแยกออกจากกัน เมื่อนานๆไปก็เกิดเป็น Delamination อย่างที่เห็นนั่นเองครับ!

จริงๆแล้วปัญหาของกระจกลามิเนตข้างต้น ยังเกิดได้จากอีกหลายสาเหตุ เช่น การใช้กระจกลามิเนตในที่ที่มีความชื้น หรือปัญหาจากการผลิต ที่ในเนื้อฟิล์มไม่ได้รับการควบคุมความชื้นให้ต่ำเพียงพอ ซึ่งเมื่อใช้กระจกนานๆไป ก็ทำให้เกิดการ Delaminate ได้เช่นกัน

กรณีที่ 5: รอยสีขาวๆในเนื้อฟิล์ม

5whitefilm

รอยสีขาวๆในเนื้อฟิล์มแบบนี้ เกิดจากปัญหาเรื่องความชื้นเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อฟิล์ม กรณีนี้เกิดจากการใช้กระจกลามิเนตโชว์ขอบในสถานที่ที่มีความชื้น เช่นการใช้งานกลางแจ้ง หรือในที่เปียกน้ำ อย่างในรูป หลายๆท่านอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นรอยสีขาวอยู่ด้านใน แต่ไม่เป็นที่บริเวณขอบกระจก สาเหตุก็เพราะว่าตอนที่เค้าถ่ายรูปนี้ ความชื้นในอากาศมีน้อยลงแล้ว ทำให้บริเวณขอบฟิล์มได้คลายความชื้นออกไปบ้าง เลยกลับมาใสเหมือนเดิม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ถ้ากระจกเพิ่งถูกความชื้นจนเป็นรอยสีขาวๆในเนื้อฟิล์ม โดยที่ยังไม่เกิดการแยกตัวของฟิล์มกับกระจก (Delamination) เราอาจยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยการนำกระจกไปเก็บในที่แห้งหรือใช้ไดร์เป่าผมเป่าไล่ความชื้นออก ถ้าความชื้นสามารถระบายออกได้หมด เนื้อฟิล์มก็จะกลับมาใสเหมือนเดิม แต่ถ้าเราทิ้งไว้อย่างนี้นานๆ กระจกกับฟิล์มก็จะแยกตัวออกจากกันอย่างถาวรจนเราแก้ไขอะไรไม่ได้เลยครับ!

กรณีที่ 6: ซิลิโคนกัดขอบฟิล์ม

6silicone

เชื่อมั้ยครับว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้ง Kuraray และ Eastman บอกว่า Sealant หรือซิลิโคนที่เราใช้ยาแนวตามขอบกระจกในท้องตลาด มีผลในการทำปฏิกริยากับฟิล์ม PVB ทุกตัว! เพียงแต่ปัญหาจะเกิดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับรุ่นและชนิดของซิลิโคนที่ใช้ ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับได้หรือเปล่า ในขณะที่ซิลิโคนบางตัวจะทำปฏิกริยาเพียงเล็กน้อย หรือแทบมองไม่เห็นเลย แต่บางตัวอาจกัดเข้าไปในเนื้อฟิล์มทำให้เห็นเป็นรอยได้อย่างชัดเจน!

โดยผู้ผลิตฟิล์มได้มีการทดสอบกาวซิลิโคนชนิดต่างๆในท้องตลาด พบว่า กาวแต่ละชนิด ทำให้เกิดปฏิกริยากับฟิล์ม PVB ได้ไม่เท่ากัน แต่ส่วนใหญ่จะมีการทำปฏิกริยาของ Plasticizer (เคมีที่เป็นเหมือนสารละลายในเนื้อฟิล์มกับกาวซิลิโคน) ให้เราเห็นเข้ามาจากขอบประมาณ 1-6 มม. และมากสุดไม่เกิน 12 มม.ครับ! (อ่านวิธีการทดสอบเพิ่มเติมจาก Saflex ตามลิงค์นี้ / ลิงค์ผลการทดสอบกาวบางรุ่นในท้องตลาด)

การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ในเคสของผู้ติดตั้งบางราย อาจมีการใช้สารเคลือบบางๆหรือติดเทปป้องกันไว้ที่สันกระจก และในต่างประเทศ ยังมีผู้ผลิตวัสดุเป็นยางไว้สำหรับป้องกันขอบของกระจกไม่ให้ถูกกาวซิลิโคนอีกด้วย แต่ในการปฏิบัติงานจริง ผมว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ติดตั้งทั่วๆไปที่จะสรรหามาใช้งานได้ครับ…

ผมขอแนะนำวิธีแบบบ้านๆว่า หากจะติดตั้งกระจกลามิเนตแบบขอบชนกัน ควรใช้ซิลิโคนชนิดไร้กรด (Non-Acid / Neutral Cure) และหลีกเลี่ยงการใช้ซิลิโคนจำนวนมากๆสัมผัสบริเวณชั้นฟิล์มโดยตรง และติดตั้งในที่ที่มีการระบายอากาศให้กาวแห้งตัวได้ดีและรวดเร็ว ส่วนใหญ่ประมาณนี้ก็เพียงพอแล้วครับ สำคัญว่าหากจะมีการใช้ซิลิโคนบางตัวที่ไม่เคยใช้กับขอบกระจกลามิเนตมาก่อน ควรมีการทดลองก่อนก็ดีนะครับ ว่าตัวเนื้อซิลิโคนมีการทำปฏิกริยากับฟิล์มมากน้อยเพียงใด

จริงๆแล้ว ปัญหาของกระจกลามิเนตยังมีสาเหตุได้อีกร้อยแปดพันเก้า นอกเหนือจากที่ผมสรุปมาไว้ในบทความนี้ครับ แต่ 6 กรณีที่ผมเลือกมาเขียนในบทความนี้ เป็นกรณีที่มักจะพบเห็นได้บ่อย และมีการตั้งคำถามถึงสาเหตุกันมาบ่อยครั้ง จึงหวังว่า ภาพประกอบและแนวทางการวิเคราะห์ที่รวบรวมมา จะช่วยในการอธิบายปัญหาที่เราอาจจะเคยเจอได้ไม่มากก็น้อยนะครับ 🙂

 

Disclaimer: ต้องขออนุญาตออกตัวครับ ว่าการวิเคราะห์สาเหตุต่างๆที่ผมเขียนข้างต้น เป็นการวิเคราะห์จากความรู้ ข้อมูลทางวิชาการ และจากประสปการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่สามารถฟันธงได้ 100% ว่าสาเหตุจะต้องเป็นไปตามนั้นซะทีเดียว บางครั้ง ปัญหาต่างๆ อาจเกิดจากปัจจัยที่เราอาจไม่ทราบได้อีกมากมาย ผมจึงไม่สามารถรับรองความถูกต้องของการวิเคราะห์ได้ ว่าจะต้องเป็นไปตามที่ผมชี้แจงในบทความนี้นะครับ