กระจกใส… ใสแค่ไหนถึงจะใสพอ?

หลายๆคนอาจจะคิดว่ากระจกใสก็ใสแล้ว จริงๆแล้วเหนือกว่ากระจกใส ยังใสได้อีกครับ บทความนี้ เราไปทำความรู้จักในเรื่องของความใสของกระจกกันครับ กระจกใสธรรมดาที่เราคุ้นเคยกันนั้น …

หลายๆคนอาจจะคิดว่ากระจกใสก็ใสแล้ว จริงๆแล้วเหนือกว่ากระจกใส ยังใสได้อีกครับ บทความนี้ เราไปทำความรู้จักในเรื่องของความใสของกระจกกันครับ

กระจกใสธรรมดาที่เราคุ้นเคยกันนั้น ถ้าลองดูที่ขอบเราจะเห็นว่าเป็นสีเขียว นั่นแปลว่ากระจกใสที่เราเห็นๆกันนั้นมันมีความเขียวแฝงอยู่ ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นกรณีที่เรากระจกแผ่นนั้นไปโค้ทสีขาวด้านหลัง

UC_whiteboard

จากรูปไวท์บอร์ด (กระจกเคลือบสีขาว) ด้านบนจะเห็นได้ชัดว่ากระจกแผ่นซ้ายเป็นกระจกใสธรรมดา เมื่อนำมาพ่นสีขาวจึงออกเขียวกว่ากระจกใสพิเศษอย่างเห็นได้ชัด

images

ส่วนตัวอย่างกระจกของ Pilkington ก็แสดงให้เห็นเลยว่าหมีขั้วโลก จะไม่ขาวอีกต่อไปถ้ามองผ่านกระจกธรรมดา

กระจกใสพิเศษ (Ultra White / Low Iron Glass) คือกระจกโฟลทที่มีส่วนผสมของโลหะ (Iron Oxide) น้อยกว่ากระจกใสธรรมดา ทำให้เนื้อกระจกมีความบริสุทธิ์กว่า และทำให้ได้กระจกที่ใสกว่ากระจกทั่วไปประดุจคริสตัล แต่ก็ทำให้ราคาสูงขึ้นกว่ากระจกทั่วไปด้วยเช่นกัน รวมทั้งในประเทศไทยยังไม่มีผลิตอีกด้วย จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้นครับ

UC1

อย่างไรก็ดี จะว่าไปราคาของกระจกใสพิเศษในยุคนี้ก็ไม่ได้แพงจนเกินเอื้อม เพราะแม้ว่าตัวกระจกวัตถุดิบเองจะมีราคาสูงกว่ากระจกใสธรรมดาประมาณหนึ่งเท่าตัว แต่เมื่อนำไปแปรรูปเป็นกระจกพิเศษต่างๆแล้ว ราคาอาจจะสูงกว่าแค่ประมาณ 40-70% ซึ่งถือว่าพอรับได้เมื่อเทียบกับการใช้งานในบางกรณีครับ

ปัจจุบันกระจกใสพิเศษได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความใส ขาวบริสุทธิ์ของเนื้อกระจก จึงเหมาะนำมาใช้กับงานตู้โชว์สินค้า กระจกเฟอร์นิเจอร์ งานพ่นสี พิมพ์ลายต่างๆ ซึ่งทำให้มองเห็นสีหรือลายได้สีตรงความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นงานอาคารธรรมดา การเลือกใช้กระจกใสธรรมดาก็พอแล้วเพราะกระจกใสพิเศษมีราคาสูงกว่ากระจกธรรมดาอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

office-3 copy 06f36613283713.5628fdb9e72f0

แล้วถ้ากระจกใสพิเศษยังใสไม่พอล่ะ… มีอะไรใสกว่ากระจกใสพิเศษอีกมั้ย?

ผมขอแนะนำให้รู้จักกับกระจกอีกชนิดครับ ‘กระจกไร้แสงสะท้อน (Anti-Reflective Glass)’

antiref_guardian

ปรกติกระจกใสทุกความหนา จะมีค่าการสะท้อนแสงภายนอกอยู่ที่ประมาณ 8% ซึ่งตัวเลข 8% ที่ว่านี่ไม่ใช่น้อยๆนะครับ เพราะแสงสะท้อน 8% ที่ว่า จะทำให้เกิดภาพลางๆที่สะท้อนมาจากกระจก รบกวนการมองทะลุเข้าไปมองเห็นด้านหลังมากทีเดียว ซึ่งกระจกไร้แสงสะท้อน หรือ Anti-Reflective Glass ที่ว่านี้ จะมีการเคลือบสารพิเศษที่เคลือบลงบนกระจกอย่างถาวรด้วยวิธีแม็กนีตรอน สปัทเตอร์ริ่ง (Magnetron Sputtering) เป็นสารที่ลดการสะท้อนของแสงให้เหลือน้อยกว่า 1% หรือเรียกได้ว่าลดไปเกือบๆสิบเท่าทีเดียวครับ และเมื่อแสงสะท้อนได้น้อยลง ก็ทำให้แสงส่องผ่านกระจกเข้าไปข้างในได้มากขึ้นอีกกว่า 7%

antiref_compare1

ทำให้กระจกชนิดนี้เป็นกระจกที่ไฮเทคที่สุดในปัจจุบัน เมื่อความใสและการมองเห็นทะลุทะลวงเป็นเรื่องสำคัญ  นอกจากนั้น ยังแถมสรรพคุณพิเศษอีกหนึ่งข้อ คือสารเคลือบพิเศษชนิดนี้จะมีความแข็งมาก ทำให้ช่วยเรื่องลดการเกิดรอยขีดข่วน หรือทำให้เกิดรอยได้ยากกว่ากระจกทั่วไปอีกด้วยครับ!!!

compare_showcase1

ในภาพจะเป็นการเปรียบเทียบสภาพการใช้งานจริงของกระจกไร้แสงสะท้อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดาแล้ว จะเปรียบเสมือนไม่มีกระจกขวางกั้นอยู่เลยทีเดียว

สำหรับกระจกไร้แสงสะท้อน (Anti-Reflective Glass) ส่วนใหญ่จะใช้ร่วมกับกระจกใสพิเศษ จึงทำให้เป็นกระจกที่มีราคาแพงมากกกกก…. (สังเกต ก.ไก่ เยอะมาก) เพราะมีราคาสูงกว่ากระจกทั่วไปประมาณ 7-12 เท่า! (สำหรับกระจกที่ผลิตในยุโรปนะครับ กระจกจากจีนไม่นับ เพราะค่าการสะท้อนแสงและประสิทธิภาพยังสู้ของยุโรปไม่ได้) แต่กระจกชนิดนี้ก็มีตลาดรองรับอยู่พอสมควร เช่นพิพิธภัณฑ์ หรือตู้โชว์กระจกที่แสดงของมูลค่าสูงๆ เสื้อผ้าแฟชั่นไฮเอนด์ ส่วนใหญ่ก็จะใช้กระจกชนิดนี้กันครับ เพราะช่วยให้ของที่แสดงดูดีขึ้นได้จริงๆ

antiref_schott

สรุปแล้ว… ใสกว่ากระจกใส ยังมีกระจกใสพิเศษ และใสกว่ากระจกใสพิเศษ ก็ต้องกระจกไร้แสงสะท้อนนั่นเองครับ

เครดิตภาพ - Pilkington / Guardian / AGC Europe / Schott

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -
Edited on