เมื่อไหร่ที่ควรใช้กระจกฮีทสเตร็งเท่น?

ทุกท่านคงรู้จักและคุ้นเคยกับกระจกเทมเปอร์ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงกระจกฮีทเสตร็งเท่น... หลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ามันมีประโยชน์ยังไง ทำไมมีกระจกเทมเปอร์แล้ว ยังต้องมีกระจก…

ทุกท่านคงรู้จักและคุ้นเคยกับกระจกเทมเปอร์ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงกระจกฮีทเสตร็งเท่น… หลายๆท่านอาจจะยังไม่ทราบว่ามันมีประโยชน์ยังไง ทำไมมีกระจกเทมเปอร์แล้ว ยังต้องมีกระจกฮีทสเตร็งเท่นให้วุ่นวายด้วย?  บทความนี้… ผมจะพาทุกท่านไปรู้จักอีกแง่มุมของกระจกที่มีส่วนคล้ายกับเทมเปอร์ แต่ก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไม่น้อยเลยทีเดียว เรามาทำความรู้จักกับ ‘กระจกฮีทสเตร็งเท่น’ (Heat-Strengthened Glass) ไปพร้อมๆกันเลยนะครับ!

กระจกฮีทสเตร็งเท่นต่างกับกระจกเทมเปอร์ยังไง?

Tempered-vs-Float-Glass-or-Non-Tempered-IMG

จริงๆแล้ว กระจกทั้งสองชนิดจะมีคอนเซ็ปในการผลิตกระจกเหมือนๆกัน คือนำกระจกโฟลต (Annealed Glass) มาผ่านการอบที่ความร้อนประมาณ 650-700 องศาเซลเซียส จากนั้นจึงทำให้กระจกเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วด้วยการเป่าลมที่ผิวกระจก ซึ่งกระจกทั้งสองชนิดนี้ จะแตกต่างกันก็ตรงที่ความแรงของการเป่าลมนี่แหละครับ ถ้าเราใช้ลมเป่าให้เย็นตัวลงเร็วมากๆ กระจกจะเกิดการอัดแน่นของโมเลกุลที่ผิวกระจกอย่างมาก ทำให้มีค่าความเครียดที่ผิวกระจก (Compressive Stress) ที่ 10,000 PSI ขึ้นไป อันนี้เราจะเรียกได้ว่าเป็น ‘กระจกเทมเปอร์’ โดยสมบูรณ์ (Fully Tempered)

แต่ถ้าเราลดแรงลมตอนที่เป่าให้กระจกเย็นตัว ก็จะมีผลทำให้กระจกเย็นตัวช้าลง ความเครียดที่ผิวกระจกก็จะลดหลั่นลงมาตามลำดับ ซึ่งเมื่อผิวกระจกมีค่าความเครียดที่ผิวกระจกระหว่าง 3,500 ถึง 7,500 PSI เราจะเรียกกระจกชนิดนี้ว่า ‘กระจกฮีทสเตร็งเท่น’ (Heat-Strengthened Glass)

temperline1

แล้วกระจกสองชนิดนี้มันแตกต่างกันยังไง?

กระจกเทมเปอร์ (ที่ผ่านการอบโดยสมบูรณ์) จะมีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 4-5 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างทันทีทันใดได้ถึง 170 องศาเซลเซียส ในขณะที่กระจกฮีทสเตร็งเท่น จะเป็นรองกว่า คือมีความแข็งแรงกว่ากระจกทั่วไป 2 เท่า และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างทันทีทันใดได้ 70 องศาเซลเซียส

นอกจากในเรื่องความแข็งแรง และการทนต่ออุณหภูมิแล้ว อีกกรณีที่เราควรต้องใช้กระจกสองชนิดนี้ก็คือ เมื่อต้องมีการร้อยสกรูยึดหรือขันกระจก เช่น เมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์ฟิตติ้ง ยึดสไปเดอร์ เป็นต้น เพราะถ้าเรายึดสกรูที่กระจกธรรมดา แล้วขันให้แน่น กระจกมีโอกาสที่จะแตกจากแรงขันได้ครับ!

spider-fitting-glass-wall-installation

ถ้ากระจกเทมเปอร์มีคุณสมบัติดีกว่า แล้วจะมีฮีทสเตร็งเท่นไปทำไม?

อย่างที่เราทราบกันครับ ว่ากระจกเทมเปอร์ เวลาแตก มันจะแตกเป็นเม็ดเล็กๆ ซึ่งก็จะทำให้กระจกทั้งแผ่นนี้กลายเป็นเศษเล็กๆที่ละเอียดไปเลย ตรงนี้เป็นคุณสมบัติที่ดีมาก ถ้าเราต้องการความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานกรณีที่กระจกแตกขึ้นมา อย่างเช่นบานประตู บานห้องน้ำ หากเกิดอะไรขึ้น ทำให้กระจกแตก การแตกเป็นชิ้นเล็กๆแบบนี้จะช่วยลดความรุนแรงและให้ความปลอดภัยได้เป็นอย่างมากครับ

brokentemper1

แต่ถ้าเป็นการใช้งานอีกแบบนึง เราลองนึกภาพกระจกเทมเปอร์ผนังอาคารสูงเกิดแตกขึ้นมา เราก็จะอยู่บนตึกที่ไม่มีอะไรขวางกั้นจนกว่าจะมีช่างเข้ามาเปลี่ยนกระจกแผ่นใหม่ ซึ่งลักษณะนี้ค่อนข้างอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยในอาคาร รวมทั้งตอนที่กระจกเทมเปอร์แตก เศษกระจกบางส่วนอาจจะหล่นลงมาจากบนตึก ถ้าเป็นตึกสูงๆ ถึงจะเป็นเศษเล็กๆ แต่ก็ทำอันตรายต่อคนดวงซวยที่อยู่ข้างล่างได้เลยนะครับ!

broken_hs1

ทีนี้ถ้าเราใช้เป็นกระจกฮีทสเตร็งเท่น เวลามีอะไรมากระแทกทำให้กระจกแตก (หรือกระจกจะแตกเองจากความร้อนก็ตาม) กระจกจะแตกในลักษณะรอยแตกวิ่งเข้าไปหาเฟรมครับ! ซึ่งตรงนี้จะทำให้กระจกส่วนที่แตก ยังคงมีเฟรมโดยรอบที่ยึดกระจกชิ้นที่แตกเหล่านั้นไว้ ทำให้อย่างน้อย ก็ยังมีกระจกอยู่ที่ผนังอาคาร (แบบแตกๆ) แต่ก็ยังปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยนั่นเองครับ!

กระจกฮีทสเตร็งเท่นเหมาะกับการใช้งานแบบไหนบ้าง?

hs_illus

1) อาคารสูง

ตามพรบ.ควบคุมอาคาร เค้ากำหนดไว้ชัดเจนครับ ว่ากระจกเปลือกนอกอาคารที่สูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป ต้องใช้กระจกลามิเนต แต่เนื่องจากเวลาคำนวณแรงดันลม (Windload) และความร้อนสะสมที่กระจกแล้ว การใช้กระจกโฟลตธรรมดามาลามิเนตส่วนใหญ่แล้วจะไม่ผ่านเกณฑ์ ทำให้เหลือ 2 ทางเลือกคือ การใช้เทมเปอร์ลามิเนต กับฮีทสเตร็งเท่นลามิเนต ซึ่งหากคำนวณแล้วฮีทสเตร็งเท่นลามิเนตผ่าน การใช้กระจกฮีทสเตร็งเท่นจะดีกว่าเทมเปอร์ ตรงที่หากกระจกแตกจากเหตุสุดวิสัยใดๆก็ตามแล้ว กระจกฮีทสเตร็งเท่นลามิเนตจะยังคงทนการรับแรงลมบนผนังอาคารได้ดีกว่าครับ เพราะถ้าเป็นกระจกเทมเปอร์ เมื่อเวลาแตกแล้ว กระจกแผ่นที่แตก จะไม่เหลือความแข็งแรงใดๆอยู่เลยครับ!

2) กระจกพื้น (Glass Floor) และกระจกสกายไลท์ (Glass Skylight)

hs_crack

ตามรูปเลยครับ ถ้ากระจกแผ่นพื้นที่คุณยืนอยู่เกิดแตกขึ้นมา! กระจกฮีทสเตร็งเท่นลามิเนตจะแตกเป็นชิ้นใหญ่ และยังคงยึดอยู่กับฟิล์มลามิเนตและมีกระจกอีกแผ่นหนึ่งอยู่ด้านใต้รองรับ ซึ่งจะให้ความปลอดภัยกว่ากรณีที่เป็นกระจกเทมเปอร์ลามิเนต เพราะเมื่อกระจกเทมเปอร์แตกเป็นเม็ดเล็กๆแล้ว การรับน้ำหนักทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับกระจกแผ่นล่าง (ที่ไม่แตก) เพียงแผ่นเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อคนที่ยืนอยู่บนกระจกทันที เพราะกระจกแผ่นล่าง ส่วนใหญ่จะไม่ได้คำนวณให้รองรับน้ำหนักได้เพียงพอด้วยกระจกแผ่นเดียว

HSLM_TPLM

ส่วนกรณีกระจกสกายไลท์ หรือกระจกแผ่นหลังคาที่อยู่เหนือหัวผู้อยู่อาศัย กระจกเทมเปอร์ก็ไม่เหมาะครับ เพราะสาเหตุเรื่องการรับน้ำหนักตามที่ผมอธิบายไว้ข้างต้น รวมทั้งในเรื่องของการที่กระจกเทมเปอร์แตกเป็นเม็ดเล็กๆ อาจจะทำให้เศษกระจกที่แตกหล่นลงมาทำอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยข้างล่างได้เช่นกัน

Glass roof seen from below, blue sky with drifting clouds visible

มาถึงตรงนี้ เราจะเริ่มรู้สึกได้ว่า กระจกฮีทสเตร็งเท่นก็สำคัญสำหรับการใช้งานในอีกหลายๆรูปแบบที่แตกต่างจากกระจกเทมเปอร์แล้วใช่มั้ยครับ?  แต่ผมต้องบอกก่อนนะครับว่า ตัวกระจกฮีทสเตร็งเท่นเอง เค้าไม่ถือว่าเป็นกระจกนิรภัย เพราะมันสามารถทำให้เกิดอันตรายได้เมื่อกระจกเกิดการแตก ส่วนใหญ่เราจึงนิยมใช้กระจกชนิดนี้มาทำเป็นลามิเนต เพื่อให้เป็นกระจกนิรภัยที่ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องการรับแรงและความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยนั่นเองครับ!!!

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -

 

 

Edited on