สำหรับกระจกชนิดนี้ ผมขอนำมายั่วน้ำลายท่านผู้อ่านไปก่อนนะครับ เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการกระจกที่ยังไม่มีขายในบ้านเรา เป็นกระจกที่เราสามารถควบคุมความมืด-ใสของกระจกได้ด้วย App มือถือ หรือจะปล่อยให้ซอฟท์แวร์คำนวณช่วงเวลาของมุมตกกระทบของแสงแดดแล้วปล่อยแสงแดดเข้ามาในอาคารอย่างเหมาะสมโดยอัตโนมัติก็ได้ครับ!
กระจกชนิดนี้มีชื่อว่า ‘dynamic glass’ ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยบริษัท View Inc. (USA) โดยใช้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนาถึง 150 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ และตอนนี้ก็พร้อมสำหรับการขายและถูกนำไปใช้ในหลายๆอาคารแล้วครับ โดยกระจก ‘dynamic glass’ นี้ จะมีการเคลือบออกไซด์ของโลหะไว้หลายๆชั้นภายในกระจก และเมื่อได้รับกระแสไฟฟ้าเข้าไป จะมีการเคลื่อนตัวของประจุไอออนในชั้นเคลือบเพื่อฟอร์มตัวเปลี่ยนสีกระจกเข้มได้ตามต้องการ
เมื่อกระจกสามารถปรับความเข้มได้ด้วยตัวเองตามช่วงเวลาของวัน ก็ทำให้ลดปริมาณความร้อนที่ผ่านกระจกเข้ามาในอาคารได้อย่างมาก โดยในเว็บไซท์ viewglass.com เคลมว่ากระจกชนิดนี้ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าการใช้กระจกโลว์อี (Low-E) เฉลี่ยถึง 20% เลยทีเดียว! โดยประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน จะขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งและปริมาณแสงอาทิตย์ในบริเวณนั้นๆด้วย ทำให้ค่าประสิทธิภาพในแต่ละเมืองที่เค้าคำนวณมาได้จะแตกต่างกันเล็กน้อยครับ
ส่วนการควบคุมความมืด-ใสของกระจก จะควบคุมผ่าน App มือถือที่รองรับทั้งระบบ iOS และ Android โดยสามารถตั้งค่าการเปลี่ยนแปลงความใสของกระจกแยกตามชั้น-โซน-หรือแผ่นได้อย่างอิสระดังนี้
1) ตั้งค่าการปรับเปลี่ยนกระจกด้วยผู้ใช้งาน หรือผู้ควบคุมอาคาร
2) ปรับเปลี่ยนความเข้มกระจกอัตโนมัติตามมุมของแสงอาทิตย์ โดยระบบจะใช้ข้อมูลสถานที่ตั้งของตัวอาคารมาคำนวณมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์และปรับเปลี่ยนความเข้มกระจกให้มีปริมาณแสงและควบคุมความร้อนได้มากที่สุด
3) ควบคุมปริมาณแสงด้วยเซนเซอร์วัดแสงภายในและภายนอกอาคาร แล้วปรับเปลี่ยนความเข้มกระจกที่ทำให้ปริมาณแสงภายในอาคารเหมาะสมที่สุด
ต้องบอกว่ากระจก dynamic glass นี้ตอบโจทย์สุดๆเลยนะครับ ทั้งในแง่การประหยัดพลังงานของอาคารในเรื่องแสงสว่างและความร้อน และในแง่ความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยในอาคาร ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องแสงมากแสงน้อยอีกต่อไป และยังเลือกใช้ระบบควบคุมผ่านแอพมือถือ แทนที่จะใช้ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ยุ่งยากซับซ้อนเป็นตัวควบคุม
แต่เนื่องจากกระจกชนิดนี้เป็นกระจกสั่งผลิตเฉพาะจากโรงงานที่สหรัฐอเมริกา และยังต้องมีการวางระบบการจ่ายไฟไปยังกระจกแต่ละแผ่น (รวมทั้งราคาน่าจะยังแพงมากๆ) จึงยังเป็นสิ่งที่เราคงจะยังเอื้อมไม่ถึงในปัจจุบัน แต่ไม่แน่… ด้วยเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนเร็ว วันนึง เมื่อเทคโนโลยีนี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น เราอาจจะเห็นกระจกชนิดนี้ในอาคารชั้นนำในบ้านเราก็ได้นะครับ!!!
https://www.youtube.com/watch?v=udGysRbR0e4
เรื่อง - กระจกไม่กระจอก - ที่มาของข้อมูล - viewglass.com -