Low Iron Glass กระจกที่ใสกว่ากระจกใส

หลังๆมานี้มีคำถามเกี่ยวกับกระจกใสพิเศษเข้ามามากเลยทีเดียว เมื่อสองปีก่อนผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วรอบนึง จึงขอนำบทความเดิมมาอัพเดทข้อมูลให้ทันยุคสมัยกันสักห…

หลังๆมานี้มีคำถามเกี่ยวกับกระจกใสพิเศษเข้ามามากเลยทีเดียว เมื่อสองปีก่อนผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วรอบนึง จึงขอนำบทความเดิมมาอัพเดทข้อมูลให้ทันยุคสมัยกันสักหน่อยนะครับ

หลายๆคนอาจจะคิดว่ากระจกใสก็ใสแล้ว จริงๆแล้วเหนือกว่ากระจกใส ยังใสได้อีกครับ บทความนี้ ผมขอพาทุกท่านไปทำความรู้จักในเรื่องของความใสของกระจกกันเลยดีกว่า

เหนือกว่ากระจกใส ยังมีกระจกใสพิเศษ

กระจกใสธรรมดาที่เราคุ้นเคยกันนั้น ถ้าลองดูที่ขอบเราจะเห็นว่าเป็นสีเขียว นั่นแปลว่ากระจกใสที่เราเห็นๆกันนั้นมันมีความเขียวแฝงอยู่ ซึ่งตรงนี้จะเห็นได้ชัดเจนขึ้นกรณีที่เราเอากระจกแผ่นนั้นไปโค้ทสีขาวด้านหลัง

UC_whiteboard

จากรูปไวท์บอร์ดด้านบนจะเห็นได้ชัดว่ากระจกแผ่นซ้ายเป็นกระจกใสธรรมดา เมื่อนำมาพ่นสีขาวจึงออกเขียวกว่ากระจกใสพิเศษที่นำมาพ่นสีขาวในรูปทางขวาอย่างเห็นได้ชัด

แต่ถ้าเป็นการใช้งานแบบปกติ เช่นการใช้งานกั้นห้อง หรือเป็นกระจกประตูหน้าต่าง เราอาจเห็นความแตกต่างของภาพที่มองทะลุได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร่ ยกเว้นตรงสันกระจกจะเห็นได้ว่ากระจกใสพิเศษสีจะอ่อนกว่า

ภาพที่มองทะลุสำหรับกระจกใสพิเศษ (ขวา) จะสว่างกว่ากระจกธรรมดา (ซ้าย) เล็กน้อย แต่ตรงสันกระจกจะแตกต่างกันอย่างชัดเจน จึงเหมาะสำหรับงานประเภทตู้โชว์อีกด้วย (credit: dillmier glass company)

ทำไมเรียกว่ากระจก Low Iron

เพราะในการผลิตกระจกโฟลททั่วไป ต้องมีการใส่ส่วนผสมของโลหะ (Iron Oxide) ลงไปในสูตรส่วนผสมที่หลอมกระจกเป็นแผ่นด้วย แต่สำหรับกระจกใสพิเศษ เค้าจะใส่ Iron Oxide ลงไปในปริมาณที่น้อยลง ซึ่งมีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ก็จะทำให้เนื้อกระจกมีความบริสุทธิ์กว่า และได้กระจกที่มีความใสกว่ากระจกทั่วไป เราจึงเรียกกระจกชนิดนี้ว่า Low Iron ที่แปลว่า “มีโลหะน้อย” หรือ Ultra-Clear Glass ที่แปลว่า “สุดยอดความใส” แต่สำหรับภาษาไทย โดยทั่วไปเราจะเรียกกระจกชนิดนี้ว่ากระจกใสพิเศษ

กระจกใสธรรมดาที่ความหนา 6 มม. จะมีค่าการส่องผ่านของแสง (VLT) อยู่ที่ประมาณ 83-89% ในขณะที่กระจกใสพิเศษจะให้ค่าการส่องผ่านของแสงได้มากขึ้นถึง 91% โดยประมาณ จึงทำให้ถ่ายทอดสีสันได้เหมือนจริงและมีความ Bright เมื่อมองผ่านเนื้อกระจกได้มากขึ้น

จะว่าไปราคาของกระจกใสพิเศษในยุคนี้ก็ไม่ได้แพงจนเกินเอื้อม เพราะแม้ว่าตัวกระจกวัตถุดิบเองจะมีราคาสูงกว่ากระจกใสธรรมดาเป็นเท่าตัว แต่เมื่อนำไปแปรรูปเป็นกระจกชนิดพิเศษต่างๆแล้ว ราคาอาจจะสูงกว่าแค่ประมาณ 40-70% ซึ่งถือว่าพอรับได้เมื่อเทียบกับการใช้งานในบางกรณีครับ

แล้วเมื่อไหร่ควรเลือกใช้กระจกใสพิเศษ?

อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้า สำหรับงานที่ต้องการความ Bright หรือสีที่แท้จริงของกระจกอย่างเช่น กระจกพ่นสีขาวหรือสีสดๆ งานกระจกตู้โชว์ หรืองานกระจกอาคารที่ต้องการความชัดเจนของภาพที่มองผ่าน ก็ควรเพิ่มงบสักหน่อยแล้วเลือกใช้กระจกใสพิเศษไปเลยครับ ส่วนงานทั่วๆไป เช่นกระจกกั้นห้อง กระจกนิรภัย หรือบานประตูหน้าต่าง ผมว่าไม่ค่อยจำเป็นต้องใช้กระจกใสพิเศษเพราะทำให้กระจกมีราคาแพงขึ้นโดยอาจจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ได้รับครับ

วิธีการแยกแยะกระจกธรรมดากับกระจกใสพิเศษ

จริงๆวิธีที่ง่ายที่สุดก็คือดูที่สันกระจกครับ เพราะภายใต้สภาวะแสง ขนาดกระจก และการเจียขอบแบบเดียวกัน สันของกระจกใสพิเศษควรจะใสกว่ากระจกใสธรรมดา ผมใช้คำว่า “ควร” เพราะมีหลายครั้งที่สันของกระจกใสพิเศษก็ดูเขียวได้เช่นกัน อย่างเช่นในรูปนี้

ถ้าดูจากสันจะเห็นว่าแผ่น A สันจะดูขาวสุด ส่วนแผ่น C สันจะออกเขียวเข้มที่สุด…

แต่จริงๆแล้ว กระจกแผ่น A และ B เป็นกระจกชนิดเดียวกัน แค่เพราะแผ่น B มีขนาดใหญ่กว่าและวางอยู่ใต้แผ่น A ก็เลยจะเห็นว่าสันของแผ่นล่างจะมีสีเข้มกว่า

ส่วนแผ่น C เป็นกระจกที่แพงสุดในสามโลกเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นกระจกใสพิเศษเช่นกัน แต่ถูกนำมาเคลือบสารลดแสงสะท้อน (Anti Reflective Coating) ทั้งสองด้าน ก็เลยดูว่าสันกระจกมีสีเข้มที่สุด ทั้งๆที่จริงๆแล้วกระจกทั้งสามแผ่นเป็นกระจก Low Iron ทั้งหมดเลย!

ดังนั้น การดูกระจกใสพิเศษจากสันกระจกอย่างเดียว ในบางสถานการณ์อาจจะเปรียบเทียบได้ไม่ชัดเจนครับ จริงๆแล้วผมว่าการนำกระจกมาวางเทียบกันโดยหาวัสดุสีขาวมาวางไว้ด้านหลัง จะเห็นได้ชัดเจนกว่าว่าเนื้อกระจกเป็นกระจกใสพิเศษหรือไม่

แต่ถ้าอยากเปรียบเทียบแบบมีหลักฐานมาวัดกันได้จริงๆ ก็คงจะต้องใช้เครื่องวัดค่าการส่องผ่านของแสง วัดค่า Visible Light Transmission แล้วเปรียบเทียบว่าแสงส่องผ่านได้ตามสเปคหรือเปล่า (ค่าการส่องผ่านของกระจกแต่ละชนิดอยู่ในตารางเปรียบเทียบล่างสุดของบทความนี้) ซึ่งในความเป็นจริงคงจะทำได้ยากเพราะเครื่องมือที่วัดได้ละเอียดพอจะมีราคาค่อนข้างสูงครับ

กระจกใสพิเศษลดแสงสะท้อน

แล้วถ้ากระจกใสพิเศษยังใสไม่พอล่ะ… มีอะไรใสกว่ากระจกใสพิเศษอีกมั้ย?

ผมขอแนะนำให้รู้จักกับกระจกอีกชนิดครับ ‘กระจกลดแสงสะท้อน (Anti-Reflective Glass)’

antiref_guardian

ปรกติกระจกใสทุกความหนา จะมีค่าการสะท้อนแสงภายนอกอยู่ที่ประมาณ 8% ซึ่งตัวเลข 8% ที่ว่านี่ไม่ใช่น้อยๆนะครับ เพราะแสงสะท้อน 8% ที่ว่า จะทำให้เกิดภาพสะท้อนมาจากกระจกรบกวนการมองทะลุเข้าไปเห็นภาพด้านหลังมากเลยทีเดียว ซึ่งกระจกลดแสงสะท้อน หรือ Anti-Reflective Glass ที่ว่านี้ จะมีการเคลือบสารพิเศษที่เคลือบลงบนกระจกอย่างถาวรด้วยวิธี Magnetron Sputtering (คล้ายๆกับวิธีการผลิตกระจก Low-E หรือ Reflective) เป็นสารที่ลดการสะท้อนของแสงให้เหลือน้อยกว่า 1% หรือเรียกได้ว่าลดไปเกือบๆสิบเท่าทีเดียว และเมื่อแสงสะท้อนจากกระจกน้อยลง ก็ทำให้เรามองภาพผ่านกระจกเข้าไปข้างในได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก

source: Guardian Clarity

กระจกชนิดนี้จึงเป็นกระจกที่เจ๋งสุดในด้านความใส เพราะนอกจากเนื้อกระจก Low Iron แล้วยังมีสารเคลือบลดแสงสะท้อนรบกวนการมองเห็นอีกด้วย นอกจากนั้น ยังแถมด้วยสรรพคุณพิเศษมาอีกข้อ คือสารเคลือบชนิดนี้จะมีความแข็งมาก ทำให้ช่วยลดการเกิดรอยขีดข่วน หรือทำให้เกิดรอยได้ยากกว่ากระจกทั่วไปอีกด้วยครับ!!!

compare_showcase1

เปรียบเทียบสภาพการใช้งานจริงของกระจกลดแสงสะท้อน ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกับกระจกใสธรรมดาแล้ว จะรู้สักอย่างกับว่าแผ่นขวาไม่มีกระจกขวางกั้นอยู่เลยทีเดียว

สำหรับกระจกลดแสงสะท้อน (Anti-Reflective Glass) ส่วนใหญ่จะผลิตด้วยกระจกใสพิเศษ จึงทำให้เป็นกระจกที่มีราคาแพงมากกกกก…. ก.ไก่ เยอะมากเพราะมีราคาสูงกว่ากระจกทั่วไปไม่ต่ำกว่า 10 เท่า! แต่กระจกชนิดนี้ก็มีตลาดรองรับอยู่พอสมควร เช่นพิพิธภัณฑ์ หรือตู้โชว์กระจกที่แสดงของมูลค่าสูงๆ ร้านเสื้อผ้าแฟชั่นไฮเอนด์แบรนด์ยุโรปส่วนใหญ่ก็จะใช้กระจกชนิดนี้กันครับ เพราะช่วยให้ของที่แสดงดูดีขึ้นได้จริงๆ โดยในประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก ถ้าสนใจอาจจะต้องลองสอบถามตัวแทนจำหน่ายเฉพาะเป็นงานๆไป ถ้าเป็นของการ์เดียนใช้ชื่อว่า Clarity ส่วน AGC ใช้ชื่อว่า Clearsight โดยเป็นกระจกนำเข้าจากยุโรปทั้งคู่ครับ

antiref_schott

ตารางเปรียบเทียบค่าประสิทธิภาพและราคา

(ราคาข้างต้นเป็นราคาประมาณการกระจกวัตถุดิบยังไม่รวมการแปรรูป ขนส่ง และค่าการตลาด)

สรุปแล้ว… ใสกว่ากระจกใส ยังมีกระจกใสพิเศษ และใสกว่ากระจกใสพิเศษ ก็ต้องกระจกลดแสงสะท้อนนั่นเอง

เครดิตภาพ - Pilkington / Guardian / AGC Europe / Schott / Dillmier

เรื่อง - กระจกไม่กระจอก -
Edited on