ระหว่าง กระจกลามิเนต 4+4 ชั้นฟิล์ม PVB 0.38 (ความหนารวม 8.38 มม.) กับ กระจกอินซูเลท (กระจกฉนวน) 6+6 ช่องอากาศ 12 มม. (ความหนารวม 24 มม.)…
คุณคิดว่า กระจกแผ่นไหน กันเสียงได้ดีกว่ากัน???
ทุกคนคงคิดคล้ายๆกันว่า กระจกอินซูเลทที่ความหนา 24 มม. ยังไงก็ต้องกันเสียงได้ดีกว่า เพราะนอกจากกระจกจะหนากว่าแล้ว ยังมีช่องอากาศเป็นฉนวนอีกตั้ง 12 มม. แต่คำตอบคือ ‘กระจกลามิเนต 8.38 มม.’ กันเสียงได้ดีกว่าครับ!!!
กระจกลามิเนตที่ความหนา 8.38 มม. มีค่า STC (Sound Transmission Class) ที่ 35* โดยค่า STC นี้ จะวัดจากความสามารถในการกันเสียง (Sound Transmission Loss) ที่ย่านความถี่ตั้งแต่ 125-4000 Hz จำนวน 16 ความถี่ จากนั้นนำมากำหนดเป็น Rating เพื่อเปรียบเทียบกันในแต่ละวัสดุครับ
ส่วนกระจกอินซูเลทที่ความหนารวม 24 มม. มีค่า STC เท่ากับ 33* ซึ่งจะน้อยกว่ากระจกลามิเนตข้างต้นประมาณ 2 ครับ (หน่วย -xx dB ในภาพข้างบน เป็นค่า Sound Transmission Loss วัดเป็นเดซิเบลที่ลดลง ณ ความถี่เสียงที่ทดสอบในห้องแล็บ)
คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่ากระจกอินซูเลท หรือกระจกฉนวน เป็นกระจกที่กันเสียงได้ดีที่สุด ด้วยเหตุเพราะมีช่องอากาศที่เป็นฉนวนอยู่ตรงกลาง ซึ่งจริงๆแล้วก็ถูกส่วนหนึ่งครับ เพราะหลักการกันเสียงของกระจกอินซูเลท เกิดจากการมีช่องอากาศคั่นระหว่างกระจกสองชั้น เพื่อให้เสียงที่ผ่านกระจกแผ่นแรกเข้ามา มีช่องว่างที่ทำให้เกิดการสะท้อนและหักล้างคลื่นเสียงซึ่งกันและกัน ทำให้เสียงเบาลงก่อนจะผ่านกระจกแผ่นที่สองเข้ามาภายในอาคาร โดยการลดเสียงของกระจกอินซูเลต ถือว่าทำได้ดีพอสมควร แต่โดยภาพรวมแล้ว กระจกอินซูเลทกันเสียงได้ดีไม่เท่ากับกระจกลามิเนตครับ!!!
กระจกลามิเนต ลดเสียงได้ด้วยวิธีที่ต่างกัน โดยใช้หลักการที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘damping’ คือการดูดซับคลื่นเสียงผ่านตัววัสดุของตัว PVB เอง ซึ่งแค่ฟิล์ม PVB ธรรมดาๆ ก็มีคุณสมบัติในการลดเสียงได้ดีมากแล้ว แต่ทุกวันนี้ ยังมีวัสดุฟิล์ม PVB ชนิดใหม่อีกชนิดหนึ่งที่ผลิตมาเพื่อกันเสียงโดยเฉพาะ เรียกว่าฟิล์มอคูสติก (Acoustic PVB) ผลิตมาที่ความหนา 0.50 มม. (โดย Kuraray) และความหนา 0.76 มม. (โดย Kuraray / Eastman / Sekisui) ซึ่งฟิล์มชนิดนี้มีคุณสมบัติเหมือนฟิล์ม PVB ที่ใช้ในการผลิตกระจกลามิเนตทุกประการ แต่เพิ่มประสิทธิภาพในการกันเสียงได้มากกว่าฟิล์มธรรมดาอีกอย่างน้อย 2-3 เดซิเบล
จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่า ฟิล์มลามิเนตจะเป็นตัวหลักในการดูดซับเสียงที่ผ่านเข้ามา ส่วนฟิล์มชนิดอคูสติก จะถูกออกแบบมาให้ลดความสูงของคลื่นเสียง (Amplitude) ได้เร็วกว่าฟิล์มธรรมดา จึงทำให้เป็นวัสดุที่มีความสามารถในการกันเสียงได้ดีกว่าฟิล์มทั่วไปอีกขั้นหนึ่ง
จริงๆแล้ว เรื่องทฤษฏีเสียงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากในการทำความเข้าใจมากๆเลยครับ เพราะวัสดุแต่ละชนิดจะมีความสามารถในการป้องกันเสียงในแต่ละย่านความถี่ได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น เราจึงใช้ค่า STC เป็นค่าเฉลี่ยในการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกันเสียงของวัสดุหนึ่งกับอีกวัสดุหนึ่ง อย่างเช่น กระจก 6 มม.แผ่นเดี่ยว มีค่า STC เท่ากับ 32 ซึ่งค่านี้จะได้มาจากการทดสอบการลดเสียงที่ความถี่ต่างๆ โดยไล่จากย่านความถี่ต่ำๆ ซึ่งอาจจะป้องกันเสียงได้แค่ 15-20 เดซิเบล ส่วนที่ย่านความถี่สูงๆอาจจะป้องกันได้ที่ 35-37 เดซิเบล เมื่อวัดค่าเสร็จแล้วก็เอาค่าที่ได้ทั้งหมดมาพล็อทกราฟเทียบกับค่ามาตรฐาน แล้วจึงสรุปออกมาเป็นค่า STC ซึ่งจะไม่ได้หมายความว่ากระจกสามารถกันเสียงได้ 32 เดซิเบล แต่ใช้ในแง่ของการเปรียบเทียบมากกว่าครับ
ก่อนจะได้ออกมาเป็นค่า STC นี้จะต้องมีการเซ็ทห้องแล็บสำหรับวัดเสียงโดยเฉพาะ และกำหนดให้ห้องแล็บมีสภาพแวดล้อม ขนาดกระจกและวิธีการติดตั้งกระจกแบบเดียวกันในการวัดค่าแต่ละครั้ง จึงจะเปรียบเทียบค่าได้ครับ (ทำให้ค่าที่เราเห็นทุกวันนี้ บังคับขนาดกระจกและชนิดกระจกเท่าที่เค้าวัดมาให้แล้วครับ หากจะครีเอทชนิดกระจกใหม่ๆเองก็ทำได้ครับ แต่ต้องไปจ้างเมืองนอกวัดค่าให้เป็นครั้งๆไป)
เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ ผมขอแชร์ค่า STC ของกระจกชนิดต่างๆไว้เป็นข้อมูลตามตารางด้านล่างดังนี้ครับ
มีอีกเรื่องที่ผมอยากนำเสนอครับ จริงๆแล้วกระจกอินซูเลทจะมีค่าการกันเสียงได้ดีขึ้นมากๆ เมื่อช่องอากาศระหว่างกระจกสองชั้นมีความหนาตั้งแต่ 24 มม.ขึ้นไปครับ! ตรงนี้เราสามารถทำได้และจะได้ประสิทธิภาพดีขึ้นมากๆ ถ้าติดตั้งกระจกเบิ้ลสองชุดไปเลยตามภาพ (ในภาพเว้นช่องอากาศไว้ประมาณ 4″ ซึ่งเป็นระยะที่กันเสียงได้ดีมากๆครับ)
และที่ผ่านมาผมเคยเห็น Profile ของ Alloy (บิลเดอร์สมาร์ท) ก็มีโพรไฟล์สำหรับห้องประชุมที่สามารถเบิ้ลกระจกไว้ด้านหลังเฟรมเพื่อกันเสียงโดยเฉพาะด้วยครับ ใช้กระจกแยกกันสองแผ่นแบบนี้ผมว่าน่าจะประหยัดกว่าใช้กระจกลามิเนตอินซูเลทในแผ่นเดียวกัน และยังเพิ่มความสามารถในการป้องกันเสียงได้ดีกว่าอีกด้วยครับ
มีอีกเรื่องที่ผมคิดว่าหลายๆคนลืมไป ทั้งที่จริงๆแล้วมีความสำคัญไม่แพ้การเลือกกระจกเพื่อการกันเสียงด้วยซ้ำ คือเรื่องของระบบเฟรม เพราะไม่ว่าจะเลือกกระจกที่กันเสียงได้ดีซักแค่ไหน แต่ถ้าใช้ระบบฟิตติ้งล็อคบานแบบที่ไม่ดึงบานเข้าขณะล็อค การซีลขอบของบานไม่ดีพอ หรือการเชื่อมต่อเฟรมที่ไม่มีคุณภาพ เสียงก็จะเล็ดลอดผ่านเข้ามาได้อยู่ดี โดยกระจกดีๆที่เลือกมาก็จะกลายเป็นว่ากันเสียงไม่ได้ไปเลยครับ ดังนั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับระบบเฟรมและการติดตั้งด้วย เพราะสำคัญมากจริงๆครับ…
แหล่งข้อมูล - *ข้อมูลค่า STC 'Kobayashi Riken' / ข้อมูลฟิล์ม PVB: Eastman, Kuraray / glass performance day 2012 by Julia Schimmelpenningh - เรียบเรียง - กระจกไม่กระจอก -